หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม
|
 |
หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม
ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
วัดอรัญญวิเวก ต.บ้านข่า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม
๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
“หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม” นามเดิมชื่อ ตื้อ นามสกุล ปาลิปัตต์ ท่านเป็นตระกูลชาวนา ถือกำเนิดเมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2431 ตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช 1250 ณ บ้านข่า ตำบลบ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
บิดาชื่อ นายปา ปาลิปัตต์ มารดาชื่อ นางปัตต์ ปาลิปัตต์
มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 7 คน ชาย 5 คน หญิง 2 คน คือ
1. นางคำมี ปาลิปัตต์ (ถึงแก่กรรมแล้ว) 2. เป็นชาย (ถึงแก่กรรมแล้วตั้งแต่ยังเด็ก) 3. นายทอง ปาลิปัตต์ (ถึงแก่กรรมแล้ว) 4. นายบัว ปาลิปัตต์ (ถึงแก่กรรมแล้ว) 5. หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม (มรณภาพแล้ว) 6. นายตั้ว ปาลิปัตต์ (ถึงแก่กรรมแล้ว) 7. นางอั้ว ทีสุกะ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เป็นผู้มีนิสัยรักความสงบ เข้าเป็นศิษย์วัดตั้งแต่ยังเด็ก และได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ระยะหนึ่ง เป็นผู้ใฝ่ใจในการศึกษา มีนิสัยตรงไปตรงมา และเป็นที่น่าสังเกตว่าในเครือญาติของท่านใฝ่ใจในการบรรพชาอุปสมบททั้งนั้น และถ้าเป็นหญิงก็เข้าบวชชีตลอดชีวิต
สำหรับหลวงปู่ตื้อ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อมีอายุได้ 21 ปี โดยอุปสมบทครั้งแรกในฝ่ายมหานิกาย บวชนานถึง 19 พรรษา ต่อมาได้ญัตติเป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกาย จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตได้ 46 พรรษา สิริรวมอายุได้ 86 ปี 65 พรรษา
ก่อนที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม จะออกบวชเป็นพระภิกษุนั้น ท่านได้เกิดนิมิตอันดีงามแก่ตัวท่านเอง คือ ก่อนคืนที่ท่านจะออกบวชนั้น กลางคืนท่านได้นิมิตฝันว่า ได้มีชีปะขาว 2 คนเข้ามาหาท่าน คนหนึ่งแบกครกหิน อีกคนหนึ่งถือสากหิน มาหยุดอยู่ตรงหน้าท่านแล้ววางครกและสากลง คนแรกได้พูดว่า
“ไอ้หนู เจ้ายกสากหินนี้ออกจากครกได้ไหม ?”
หลวงปู่ตื้อตอบว่า “ขนาดต้นเสาใหญ่ผมยังแบกคนเดียวได้ ประสาอะไรกับของเพียงแค่นี้”
แล้วท่านก็เดินเข้าไปพยายามยกเท่าไรๆ ก็ไม่สำเร็จ จนถึงวาระที่ 3 จึงสามารถยกสากหินนั้นขึ้นได้
เมื่อยกได้แล้วก็ได้เอาสากหินนั้นตำลงที่ครก และตำเรื่อยไป มองดูที่ครกเห็นมีข้าวเปลือกเต็มไปหมด ท่านจึงได้พยายามตำข้าวเปลือกเหล่านั้นจนกลายเป็นข้าวสารเต็มไปหมด และชีปะขาวก็หายไป
เมื่อชีปะขาวหายไป จากนั้นปรากฏว่าได้มีพระเถระ 2 รูป มีกิริยาอาการน่าเคารพเลื่อมใสมาก ทั้งมีร่างกายเป็นรัศมี ท่านนึกว่าเป็นพระอริยเจ้าผู้วิเศษ เดินตรงมาหาท่านแล้วพูดเบาๆ ว่า
“หนูน้อย เจ้ามีกำลังแข็งแรงมาก”
พอดีท่านรู้สึกตัวขึ้นมา แล้วนั่งทบทวนพิจารณาถึงความฝันที่ผ่านมา เห็นเป็นเรื่องแปลกและพิสดารมาก คิดว่านิมิตเช่นนี้จะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้างหนอ คิดแต่เพียงว่าคงจะมีเรื่องที่ดีเกิดขึ้นกับท่านแน่
ท่านคิดได้แค่นี้ก็ระลึกถึงคำสั่งของบิดาว่า ได้สั่งให้ไปต้อนควายจากท้องทุ่งให้เข้ามากินอยู่ใกล้ๆ บ้าน ท่านจึงได้ลุกออกจากบ้านไปต้อนไล่ควายมาเลี้ยงอยู่ใกล้ๆ บ้าน แต่ในใจก็ยังนึกถึงความฝันเมื่อคืนนี้อยู่
เป็นเพราะหลวงปู่ตื้อมีนิสัยรักความสงบอยู่แล้ว จึงคิดขึ้นมาว่า สมควรที่เราจะต้องบวชเพื่อประพฤติธรรมดูบ้าง คิดว่าวันพรุ่งนี้เราจะต้องออกไปอยู่วัดอีก เพื่อจะได้บวชเป็นพระภิกษุแล้วจะได้มีโอกาสประพฤติธรรมอย่างจริงจังบ้าง และก็เป็นเช่นที่คิด พอรับประท่านอาหารเย็นวันนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว
บิดาท่านก็บอกว่า “กินข้าวอิ้มแล้วให้รีบไปหาปู่จารย์สิมที่บ้าน ปู่จารย์สิมมาตามหาเจ้าตั้งแต่กลางวันแน่ะ”
หลวงปู่ตื้อนึกสงสัยว่าจะมีเรื่องอะไรก็ไม่ทราบ จึงรีบไปหาปู่อาจารย์สิมทันที
(คำว่า พ่ออาจารย์, ปู่จารย์ หมายถึง ผู้ชายที่ได้บวชเรียนเป็นพระภิกษุมาก่อนหลายพรรษา และได้เล่าเรียนวิชาจนมีความรอบรู้พอสมควร เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป แต่ต่อมาได้สึกออกมาใช้ชีวิตฆราวาส)
เมื่อไปถึงบ้านปู่จารย์สิมเรียบร้อยแล้ว ปู่จารย์สิมเปิดประตูข้างในเรือนและเรียกให้ท่านเข้าไปหา พอท่านเข้าไปในห้อง เห็นมีผ้าไตรจีวร บาตร และเครื่องบริขารสำหรับบวชพระ แล้วปู่จารย์สิมก็ยื่นขันดอกไม้ที่เตรียมเอาไว้ให้พร้อมกับพูดว่า “เห็นมีแต่หลานคนเดียวเท่านั้นที่สมควรจะบวชให้ปู่ เพราะปู่ได้เตรียมเครื่องบวชไว้เรียบร้อยแล้ว แต่หาคนบวชไม่ได้ จึงให้หลานได้บวชให้ปู่สัก 1 พรรษา หรือได้สัก 7 วันก็ยังดี ขอให้บวชให้ปู่ก็เป็นพอ จะนานเท่าไรก็ได้ไม่เป็นไร”
หลวงปู่ตื้อได้รับปากกับปู่จารย์สิมซึ่งเป็นปู่ของท่านทันที แต่ขอไปบอกลาบิดามารดาเสียก่อน เมื่อบิดามารดาอนุญาตให้ก็จะได้บวชตามที่ปู่จารย์สิมต้องการ
บิดามารดาของท่านเมื่อได้ยินลูกชายเล่าให้ฟังเช่นนั้น ก็อนุญาตตามที่ปู่จารย์สิมขอ พร้อมกับกล่าวคำอนุโมทนาสาธุการ แสดงความยินดีกับลูกชายเป็นอย่างยิ่ง ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
เมื่อหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาให้บวชแล้ว ท่านก็ได้เข้าไปอยู่เป็นศิษย์วัด อยู่ต่อมาจนได้อุปสมทบเป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกาย เมื่อปี พ.ศ.2452 แต่ในบันทึกไม่ปรากฏแน่ชัดว่าท่านบวชที่ไหนและบวชกับใคร ท่านบอกว่า ท่านบวชกับพระอุปัชณาย์คาน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม แล้วก็กลับไปจำพรรษาที่วัดบ้านข่าซึ่งเป็นบ้านเดิม เพื่อศึกษาเล่าเรียนตามอุปนิสัยที่ท่านถนัดอยู่แล้ว นิสัยของท่านชอบการศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยอันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก
เมื่อท่านบวชครบ 7 วัน แล้วปู่จารย์สิมได้มาหาท่านที่วัด ถามถึงเรื่องที่จะสึกหรือไม่สึก ถ้าสึกจะหาเสื้อผ้ามาเตรียมไว้ให้ ท่านก็สองจิตสองใจใคร่สึกบ้าง ไม่สึกบ้าง แต่มาคิดได้ว่า ถ้าสึกตอนนี้ชาวบ้านจะพากันเรียก ไอทิต 7 วัน รู้สึกอับอาย จึงบอกปู่จารย์สิมว่า “อาตมายังไม่อยากสึก ขออยู่ไปก่อน รอให้ออกพรรษาก่อนเถิด”
ท่านก็บวชอยู่ได้ครบพรรษาหนึ่ง ท่านหัดท่องหัดสวดเจ็ดตำนาน สิบสองตำนานจนขึ้นใจ พอออกพรรษาเรียบร้อยแล้ว ต่อมาอีกเดือนเศษๆ ปู่จารย์สิมก็มาหาท่านอีกและถามท่านว่าจะสึกหรือไม่ ท่านก็ทำเฉยเสีย เพราะรู้สึกใจคอท่านสบายดีอยู่ ถ้าหากสึกไปแล้ว การเล่าเรียนพระธรรมก็ยังไม่ไปถึงไหนเลย แค่อาราธนาศีล 5 ศีล 8 อาราธนาเทศน์ยังทำไม่ได้คล่องแคล่ว เมื่อสึกออกไป ถูกเขาไหว้วานให้อาราธนา ถ้าว่าไม่ได้จะอายเขาเปล่าๆ
ต่อมาท่านได้เดินทางเพื่อไปศึกษาวิชาธรรมะในทางพระพุทธศาสนาที่เรียกกันวา “เรียนสนธิ์ เรียนนาม มูลกัจจายน์” อันเป็นวิชาที่เรียนได้ยากในสมัยนั้น ถ้าหากใครเรียนได้จบตามหลักสูตร เรียกกันว่า “นักปราชญ์” เป็นผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย ซึ่งหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้เดินทางไปเรียนที่วัดโพธิชัย อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม การเดินทางไปมีความลำบากมากทางคมนาคมไม่สะดวกเลย ต้องเดินไปด้วยเท้า (ระยะทางประมาณ 51 กิโลเมตร) สำนักเรียนวัดโพธิชัยมีชื่อเสียงมากในขณะนั้น เพราะมีอุปัชฌาย์คาน เป็นเจ้าสำนักเรียน
ต่อมาได้เข้าศึกษาเล่าเรียนวิชาบาลีสนธิ์นาม และมูลกัจจายน์ ในสำนักวัดโพธิชัยนี้ ด้วยความสนใจเป็นเวลานานถึง 4 ปีเต็ม จึงจบตามการสอนของสำนักเรียน และได้ถือโอกาสกราบเรียนลาท่านพระอาจารย์ผู้เป็นเจ้าสำนักเรียน เพื่อกลับสำนักเดิมคือ วัดบ้านข่า
เมื่อท่านกลับมาอยู่วัดได้ 3 วันเท่านั้น ทั้งนี้คงเป็นเพราะนิสัยที่ท่านใฝ่ใจในธรรม ชอบศึกษาค้นคว้าในค่ำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านจึงได้เดินทางออกจากบ้านเพื่อจะไปเรียนพระปริยัติธรรมต่อที่กรุงเทพมหานคร อันเป็นแหล่งที่มีการศึกษาเจริญที่สุด ได้ชักชวนพระภิกษุรูปหนึ่งในวัดออกเดินทางจากวัดเดิมธุดงค์มุ่งหน้าไปยังจังหวัดอุดรธานีก่อน ค่ำไหนก็พักจำวัดทำสมาธิภาวนาที่นั่น เป็นเวลาหลายวันจึงถึงอุดรธานี
แต่พอเดินทางถึงจังหวัดอุดรธานี พระภิกษุที่เป็นเพื่อนเดินทางเกิดเปลี่ยนใจเพราะคิดถึงบ้านอยากจะกลับบ้าน ไม่ยอมไปเรียนต่อที่กรุงเทพมหานครตามที่ตั้งใจเอาไว้ ถึงแม้จะพูดอย่างไรก็ตามก็ไม่ยอม คิดแต่จะกลับบ้านอย่างเดียว ท่านต้องเป็นเพื่อนเดินทางกลับไปส่งพระรูปนั้นกลับบ้านข่า ถึงแค่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี แล้วท่านจึงเดินทางกลับมายังวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานีอีก แต่สมัยนั้นวัดโพธิสมภรณ์ หรือแม้จังหวัดอุดรธานีก็ยังเป็นป่า ยังไม่ได้พัฒนาให้เจริญเหมือนทุกวันนี้
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เมื่อได้เดินทางกลับมาถึงจังหวัดอุดรธานีคราวนี้ ท่านได้เปลี่ยนใจจากการไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพมหานคร เป็นการออกปฏิบัติธรรมกรรมฐานแทน
ท่านกล่าวว่า “การออกเดินธุดงค์ เป็นการเดินทางเส้นตรง...ต่อการบรรลุธรรมอย่างแท้จริง”
เมื่อได้เปลี่ยนใจเช่นนี้แล้ว ก็ได้เดินทางจากจังหวัดอุดรธานีมุ่งสู่จังหวัดหนองคาย ท่านได้แวะพักโปรดญาติโยมเป็นระยะๆ ไป และพักทำกรรมฐานที่พระบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี บำเพ็ญภาวนาอยู่หลายวัน จึงออกเดินทางไปยังฝั่งลาวพักกรรมฐานอยู่ที่บริเวณนครเวียงจันทร์เป็นเวลาหลายเดือน
หลวงปู่ตื้อเล่าให้ฟังว่า ได้ไปทำความเพียรอยู่บนภูเขาควาย ทำกรรมฐานอยู่บริเวณนั้นเป็นเวลา 4 เดือนเต็ม คืนแรกที่ท่านไปถึงนั้น ได้ไปนั่งภาวนาอยู่ที่ถ้ำเล็กๆ แห่งหนึ่งในบริเวณนั้น พอนั่งสมาธิอยู่ไม่นานประมาณชั่วโมงเศษๆ เห็นจะได้ ท่านได้ยินเสียงดังมาแต่ไกล คล้ายเสียงลมพัดอย่างแรง แต่พอลืมตาขึ้นดูไม่เห็นมีอะไร นอกจากตัวผึ้งเป็นหมื่นๆ ตัวบินวนเวียนอยู่เหนือศรีษะคล้ายเสียงเครื่องบิน สักพักหนึ่งตัวผึ้งเหล่านั้นก็บินลงมาเกาะตามผ้าจีวรเต็มไปหมด แล้วเที่ยวไต่ไปตามตัวจนท่านต้องเปลื้องจีวรและอังสะออกจากตัวและนุ่งสบงแบบจูงกระเบน แล้วรัดผ้ากับตัวให้แน่น ตามตัวมีแต่ตัวผึ้งเต็มไปหมด แต่มันก็มิได้ต่อยทำร้ายท่าน
หลวงปู่ตื้อบอกว่า ในภาวะเช่นนั้นต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างยิ่ง ประมาณ 20 นาทีหมู่ผึ้งเหล่านั้นทั้งหมดก็บินจากไป จากนั้นท่านก็นั่งภาวนาต่อไปอีกประมาณ 2 ชั่วโมงเศษๆ
ในขณะนั้นเอง ได้นิมิตเห็นศีรษะของชายคนหนึ่งค่อยๆ โผล่ขึ้นมาจากพื้นข้างหน้าท่านห่างออกไปเล็กน้อย ดูเหมือนว่าเขากำลังเดินขึ้นมาจากเบื้องล่าง แล้วเดินเข้ามาหาท่าน จนเข้ามาใกล้แล้วมาหยุดยืนอยู่เบื้องหน้า โดยไม่พูดอะไร ร่างกายชายคนนั้นใหญ่โตมาก
บุคคลนั้นยืนอยู่นานพอสมควรแล้วหันหลังกลับเดินไป แต่การเดินกลับไปนั้นดูเหมือนว่าเดินลึกลงไปสู่ที่ต่ำเพราะหายลับลงไปอย่างรวดเร็วมาก จนมองตามไม่ทัน และท่านก็นั่งสมาธิอยู่ที่เดิม ไม่นานนักก็ได้ปรากฏว่ามีเทพยดาสวมมงกุฏสวยงามมากเข้ามาหาท่าน 2 องค์แล้วพูดขึ้นว่า
“ท่านอาจารย์ ห่างจากนี้ไม่ไกลนัก มีพระพุทธรูปทองคำ 10 องค์ พระพุทธรูปเงิน 15 องค์ จมอยู่ในดิน ขอให้ท่านอาจารย์ไปเอาขึ้นมา เพื่อให้คนทั้งหลายได้กราบไว้สักการบูชา เพราะบัดนี้ไม่มีใครรักษาแล้ว” พูดเท่านั้นเทพยดาทั้งสององค์ก็หายไป
หลวงปู่ตื้อ เล่าเรื่องต่อไปว่า คืนที่ไปนั่งภาวนาอยู่ที่เส้นทางช้างศึกของเจ้าอนุวงษ์ นครเวียงจันทน์หลายคืน คืนหนึ่งมีวิญญาณหลงทางมาหามากมายจริงๆ เหตุที่ว่าเป็นวิญญาณหลงทางนั้น เพราะจะแผ่เมตตาให้อย่างไร ก็ระลึกและคลายมานะทิฐิไม่ได้ ยังมัวเมาอยู่นั่นเอง
วิญญาณพวกนี้โดยมากเป็นพวกทหารหนุ่มๆ ทั้งนั้น สังเกตเห็นว่า พวกนี้จะไม่ยอมกราบไหว้ ไม่มีเคารพในสมณเพศ ทั้งนี้เพราะส่วนมากเป็นวิญญาณมิจฉาทิฐิมาปรากฏเพื่อให้เห็นเท่านั้น
รุ่งเช้า มีโยมมาขอให้ท่านพักอยู่ต่อไปนานๆ จะสร้างกุฏิถวาย แต่ท่านไม่รับนิมนต์ ท่านบอกโยมว่า จะต้องเดินธุดงค์ไปเรื่อยๆ จนถึงจังหวัดเชียงใหม่เมืองของไทยใหญ่ ท่านบอกว่านับตั้งแต่ออกจากพระบาทบัวบก จังหวัดอุดรธานี มาพักจำพรรษาอยู่ที่บริเวณเวียงจันทน์นี้ เป็นเวลานานถึง 4 เดือนเศษๆ จากนั้นก็เดินทางแบบพระธุดงค์กรรมฐานต่อไปยังเมืองหลวงพระบาง หนทางเดินลำบากที่สุด สภาพทั่วไปเป็นภูเขา บางวัดเดินขึ้นภูเขาสูงๆ แล้วเดินลงจากหลังเขา ถ้าคิดระยะทางการเดินทางธรรมดาจะต้องเดินไปไกลกว่านั้น เพราะเดินตลอดวันก็กลับลงมาที่เดิม ตกเย็นมืดค่ำลง ก็กางกลดพักผ่อนทำความเพียรภาวนา รุ่งอรุณก็ตื่นเดินทางต่อไป บางวันไม่ได้บิณฑบาตเลยเพราะไม่มีบ้านคน
เท่านเล่าว่า เดินไปด้วยกันคราวนี้รวมแล้ว 6 รูป แต่ต่างคนต่างไปไม่พบกันตั้งหลายวันก็มี บางทีก็พบพระซึ่งเป็นชาวพม่าซึ่งท่านก็เดินธุดงค์เช่นกัน นานๆ พบกันทีหนึ่ง พบกันแล้วก็แยกทางกันเดินต่อไป ท่านบอกว่าถนนหนทางลำบากที่สุด รถยนต์ไม่มีโอกาสจะไปได้เลย แม้แต่คนจะเดินไปก็ยังยาก และสมัยนั้นรถยังไม่เคยมีในถิ่นนั้นเลย และแล้วหลวงปู่ตื้อ ก็ได้พบพระธุดงค์รูปหนึ่งซึ่งจะเป็นสหธรรมิกรูปสำคัญต่อไปในอนาคต พระธุดงค์หนุ่มรูปนี้มีปฏิทาลีลาอะไรหลายอย่างละม้ายเหมือนหลวงปู่ตื้อมาก เป็นต้นว่า เป็นพระภิกษุหนุ่มฝ่ายมหานิกายที่ออกจาริกธุดงค์แต่ลำพังอย่างโดดเดี่ยวกล้าหาญ โดยไม่มีครูบาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานแนะนำคอยชี้ทางให้เลย หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม และหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ พบกันครั้งแรกที่ป่าภูพาน ขณะนั้นหลวงปู่ตื้อจาริกธุดงค์มาจากพระบาทบัวบก จังหวัดอุดรธานี ได้สนทนาธรรมแลกเปลี่ยนความรู้กันเป็นที่ชอบอัธยาศัยถูกใจกันยิ่งนัก
หลวงปู่ตื้อเองก็ใฝ่ใจปรารถนาอยากจะพบ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ให้ได้เหมือนกัน เพราะได้ยินได้ฟังกิตติศัพท์เลื่องลือเกี่ยวกับพระอาจารย์มั่นมามาก แต่ก็ยังไม่ได้พบสมใจหวังสักที
ท่านทั้งสองได้ปรึกษาหารือกันว่า หากวาสนายังมีคงจะได้พบกับพระอาจารย์มั่นสมใจหวัง เราอย่าเร่งรัดตัวเองและกาลเวลาเลย ถ้าไม่ตายเสียก่อนจะต้องได้สดับธรรมจากพระอาจารย์มั่นเป็นแม่นมั่น ในระหว่างนี้เราควรจะจาริกธุดงค์ไปตามมรรคาของเราก่อน
ทั้งหลวงปู่ตื้อ และหลวงปู่แหวน เริ่มต้นเดินทางสู่เมืองลาวที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย พอข้ามแม่น้ำโขงแล้วก็พบแต่ป่าต้องเดินมุดป่าไปเรื่อยๆ ดูเหมือนเป้าหมายจะเป็นหลวงพระบาง ในการเดินทางเท้านั้น ตลอดทางมักได้พบสัตว์ป่าเป็นจำนวนมากและได้อาศัยเดินตามรอยช้าง เพราะสะดวกสบายดี ถ้าใครเคยขึ้นภูกระดึง และเคยมุดป่าบนหลังภู จะพบทางเดินของช้างบนนั้น
พระภิกษุหนุ่มทั้งสองท่านจะเดินธุดงค์ไปตลอดทั้งกลางวัน พอพลบค่ำก็เลือกพักใกล้หมู่บ้านคนพอได้โคจรบิณฑบาตยามเช้า ท่านได้เล่าถึงชาวป่าเผ่าหนึ่งพบระหว่างทางในตอนใกล้พระอาทิตย์ตกดิน ชาวป่าเหล่านั้นเอากระติบข้าวเหนียวมาถวาย เดินแถวเข้ามานับสิบเพื่อถวายอาหาร ด้วยพวกเขาไม่ทราบพระรับอาหารยามวิกาลไม่ได้ แต่มีศรัทธาบอกว่า “งอจ้าวเหนียวงอจ้าวเหนียว” ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร ทั้งสองท่านจึงบอกว่าอาหารไม่รับ ขอรับน้ำร้อนก็พอ ซึ่งก็ได้พยายามสื่อความหมายจนกระทั่งรู้เรื่องกันได้
พอรุ่งเช้าเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ต้องทำการบิณฑบาตแบบโบราณ คือ ไปยืนอยู่หน้าบ้านทำเป็นหวัดกระแอมไอ ให้เขาออกมาดู เขาไม่เข้าใจ ก็ทำนิ้วชี้ลงที่บาตร จึงได้ข้าวมาฉัน คนป่าเผ่านั้นคงจะไม่เคยรู้จักพระมาก่อน ไม่รู้วินัยพระ ไม่รู้ธรรมเนียมพระ
ต่อมาท่านได้ธุดงค์เดินทางไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีวัดประจำหมู่บ้าน แต่ไม่มีพระจำพรรษามีแต่เพียงสามเณรอยู่รูปเดียว สามเณรรูปนั้นเห็นพระอาคันตุกะสองรูปนั้นมาเยี่ยมก็ดีใจ หาที่นอนหาน้ำร้อนมาถวาย ถวายเสร็จแล้วสามเณรรูปนั้นก็หลบไป
อีกสักครู่หลวงปู่ตื้อกับหลวงปู่แหวนก็ได้ยินเสียงไก่ร้องกระโต้กกระต้าก แล้วก็เงียบเสียงลง อีกพักหนึ่งก็มีกลิ่นไก่ย่างโชยมา และอีกพักหนึ่งไก่ย่างก็ถูกนำมาวางตรงหน้าท่านทั้งสอง
“นิมนต์ท่านครูบาฉันไก่ก่อน ข้าวเหนียวก็กำลังร้อนๆ นิมนต์ครับ”
ในที่สุดหลวงปู่ทั้งสองก็เดินธุดงค์ถึงเหมืองหลวงพระบาง
แม้ว่าบางครั้งท่านจะแยกกันธุดงค์ แต่มีหลายครั้งที่ท่านมีโอกาสจำพรรษาร่วมกัน และเป็นคู่อรรถคู่ธรรมที่แปลกมาก กล่าวคือ เรื่องอุปนิสัยที่แตกต่างกัน หลวงปู่ตื้อท่านเป็นพระที่ชอบพูดชอบเทศน์ มีปฏิปทาผาดโผน และเวลาพูดเสียงท่านจะดัง แต่หลวงปู่แหวนกลับเป็นพระที่พูดน้อย เสียงเบา ไม่ชอบเทศน์ มีแต่ให้ข้อธรรมสั้นๆ มีปฏิปทาเรียบง่าย
ในเช้าวันหนึ่ง หลวงปู่แหวน กับ หลวงปู่ตื้อ ได้อาศัยบิณฑบาตที่หมู่บ้านชาวป่า มี 4-5 หลังคาเรือน ชาวบ้านพากันมาใส่บาตรด้วยความดีใจ เพราะนานๆ จึงจะมีพระธุดงค์มาโปรดสักที
ชาวบ้านถามว่า พระคุณเจ้าทั้งสองจะไปไหน หลวงปู่บอกว่าจะมุ่งไปทางเทือกเขาที่มองเห็น แล้วจะลงไปทางสุวรรณเขต (อยู่ตรงข้ามกับมุกดาหาร) ชาวบ้านแสดงอาการตกใจ พร้อมทั้งทัดทานว่าอย่าไปทางโน้นเลย เพราะมียักษ์ปีศาจดุร้ายสิงอยู่ คอยทำร้ายคนและสัตว์ที่ผ่านไปทางนั้น
หลวงปู่ทั้งสอง กล่าวขอบใจในความหวังดี และบอกว่าท่านทั้งสองได้มอบกายถวายชีวิตให้พระศาสนาแล้ว ขออย่าได้ห่วงตัวท่านเลย แล้วท่านก็ออกเดินทางไปในทิศทางดังกล่าว
หลวงปู่ออกเดินทางโดยข้ามลำน้ำสองแห่ง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ป่าแถบนั้นเงียบกริบ ไม่ได้ยินเสียงสัตว์ต่างๆ เลย แม้แต่นกก็ไม่มี ดูผิดประหลาดมาก
พอใกล้ค่ำหลวงปู่ทั้งสองก็มาถึงยอดเขาสูงที่มีลักษณะประหลาดมาก คือยอดเป็นสีดำคล้ายถูกไฟเผา รูปลักษณะดูตะปุ่มตะป่ำคล้ายหัวคนบ้าง หัวตะโหนกช้างบ้าง แปลกไปจากเขาลูกอื่นๆ
หลวงปู่ทั้งสอง เลือกปักกลดค้างคืนข้างลำธารที่มีน้ำใสไหลผ่านอยู่ที่เชิงเขาลูกนั้น ปักกลดห่างกันประมาณ 10 เมตร เมื่อสรงน้ำพอสดชื่นแล้วต่างองค์ก็นั่งสงบภายในกลดของตน ทั้งสององค์ตระหนักในความประหลาดของสถานที่นั้น ไม่ได้พูดอะไรกันเพียงแค่นั่งสงบอยู่ภายในกลด
ประมาณ 5 ทุ่ม หลวงปู่แหวนก็ออกจากกลดเตรียมจะเดินจงกรม
หลวงปู่ตื้อออกมาตาม และพูดว่า “ผมรู้สึกว่าที่นี่วิเวกผิดสังเกตนะ”
หลวงปู่แหวนตอบ “ผมก็รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน”
พูดกันแค่นี้แล้วต่างองค์ต่างก็เดินจงกรมในทางของตน ต่อจากนั้นไม่นานก็มีเสียงกรีดแหลมเยือกเย็นดังลงมาจากยอดเขารูปประหลาดนั้น เสียงนั้นแหลมลึกบีบเค้นประสาทจนรู้สึกเสียวลงไปถึงรากฟันทีเดียว
หลวงปู่ตื้อถามพอได้ยินว่า “ท่านแหวนได้ยินแล้วใช่ไหม”
หลวงปู่แหวนตอบด้วยเสียงเรียบๆ ว่า “ผมกำลังฟังอยู่”
เสียงกรีดร้องนั้นใกล้เข้ามาทุกที ฟังแล้วน่าขนพองสยองเกล้า ทั้งสององค์คงเดินจงกรมอยู่เงียบๆ ตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ป่านั้นเงียบสงัดจริงๆ เสียงนกเสียงแมลงก็ไม่มี ครั้นแล้วเกิดพายุปั่นป่วนมาอย่างกระทันหัน ชนิดไม่มีเค้ามาก่อนเลย ต้นไม้โยกไหวรุนแรงราวกับจะถอนรากออกมา อากาศพลันหนาวเย็นวิปริตขึ้นมาทันที พลันปรากฏร่างประหลาดขึ้นร่างหนึ่ง ตัวดำมะเมื่อม สูงราว 7 ศอก มีขนยาวรุงรังคล้ายลิงยักษ์ แต่หน้าคล้ายวัวควาย ตาโปน มือสองข้างยาวลากดิน มันก้าวเข้ามาอยู่ห่างจากหลวงปู่ทั้งสองประมาณ 10 เมตรเห็นจะได้
สัตว์ประหลาดนั้นส่งเสียงร้องโหยหวนขึ้น พลันพายุนั้นก็สงบลง แสดงว่ามันมีอำนาจเหนือธรรมชาติ สัตว์นั้นส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงร้ายกาจเหมือนกลิ่นศพที่กำลังขึ้นอืด มันกระทืบเท้าสนั่นจนแผ่นดินสะเทือน
หลวงปู่แหวนเล่าในภายหลังว่า ท่านไม่รู้สึกกลัว แต่ขนลุกซู่ซ่าไปหมด เพราะไม่เคยเห็นสัตว์ประหลาดอย่างนั้นมาก่อน ยังไม่รู้ว่าเป็นปีศาจหรือสัตว์อะไรแน่ ท่านได้กำหนดสติไม่ให้ใจคอวอกแวก ทอดสายตาไปยังสัตว์ประหลาดนั้น กำหนดจิตแผ่เมตตาไปยังร่างนั้น สัตว์ร่างยักษ์นั้นหยุดร้อง หยุดส่งกลิ่นเหม็น แสดงว่ารับกระแสเมตตาได้ มันค่อยๆ ทรุดร่างลงนั่งยองๆ เอามือยันพื้นไว้ ทำท่าแสดงความนอบน้อมต่อท่าน ธรรมโอวาท
สำหรับการแสดงธรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโมนั้น ท่านแสดงธรรมอย่างตรงไปตรงมา แสดงธรรมตามทัศนะของท่าน มีคนชอบฟังมาก หลวงปู่เล่าว่า โลกนี้เขามีเครื่องผูกอันเหนียวแน่น ยากที่จะตัดได้ด้วยอย่างอื่น นอกจากพระธรรมของพระพุทธเจ้า มนุษย์เราเกิดมาก็ต้องทำบาป เมื่อทำแล้วก็ต้องได้รับผลกรรมที่เราทำไว้ พ่อแม่เรานั้นทำกรรม เราเกิดมาก็ทำกรรมไปอะไรที่สุดของกรรม ไม่มีใครรู้ได้ทำบาปแล้วมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย
1. จิตตานุปัสสนา จิตไม่ฆ่าสัตว์ จิตก็เป็นโสดาปัตติมรรค จิตก็เป็นโสดาปัตติผล
2. จิตตานุปัสสนา จิตไม่ลักทรัพย์ จิตก็เป็นพระสกิทาคามิมรรค จิตก็เป็นพระสกิทาคามิผล
3. จิตตานุปัสสนา จิตไม่คิดมีผัวเมีย ออกบวช จิตก็เป็นพระอนาคามิมรรค จิตก็เป็นพระอนาคามิผล
4. จิตตานุปัสสนา จิตไม่กล่าวมุสาวาท จิตก็เป็นพระอรหัตมรรค จิตก็เป็นพระอรหัตผลอีกนัยหนึ่ง
1. จิตไม่ฆ่าสัตว์ จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน 2. จิตไม่ลักทรัพย์ จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน 3. จิตออกบวช จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน 4. จิตไม่ขี้ปด จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน
หลวงปู่สอนว่า “ธรรมะคือคำสอนของพระพุทธเจ้า พวกเรามองข้ามไปเสียหมด อยู่ที่ตัวของเรานี้เองมิใช้อื่น พุทธะคือผู้รู้ ก็ตัวของเรานี้ เองมิใช้ใครอื่น เช่นเดียวกันกับไข่ ไข่อยู่ข้างในของเปลือกไข่ ทำให้เปลือกไข่แตกเราก็ได้ไข่ พิจารณาร่างกายของเราให้แตก แล้วเราก็จะได้ธรรมะ” หรือ
“ธรรมะจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการทำอะไรจริงจัง คือการตัดสินใจอย่างแน่นอนลงไป แล้วเลือกเฟ้นธรรมปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่นานหรอกเราก็จะได้พบสิ่งที่เราต้องการ ความกลัวทุกอย่างจะหายไปหมด
ถ้าเราตัดสินใจอย่างใดแล้วคือเราต้องเป็นคนมีจุดมุ่งหมายอย่างหลวงตา นับตั้งแต่บวชมาได้ตัดสินใจปฏิบัติธรรมะอย่างจริงจัง จนทุกวันนี้ไม่เคยลดละและท้อถอยเลย” หรือ
“นักธรรม นักกรรมฐาน ต้องมีนิสัยอย่างเสือโคร่ง คือ 1. น้ำจิตน้ำใจต้องแข็งแกร่งกล้าหาญไม่กลัวต่ออันตรายใดๆ 2. ต้องเที่ยวไปในกลางคืนได้ 3. ชอบอยู่ในที่สงัดจากคน 4. ทำอะไรลงไปแล้วต้องมุ่งความสำเร็จเป็นจุดหมาย” หรือ
“สัตว์เดรัจฉานมันดีกว่าคนตรงที่มันไม่มีมายา ไม่หลอกลวงใคร มีครูอาจารย์ก็คือคนเป็นสัตว์ที่น่ารักน่าสงสาร คนเราซิโง่เป็นพุทธะได้ แต่หลอกลวงตนเองว่าเป็นไปไม่ได้ ร่างกายก็มีให้พิจารณาว่าเป็นของเน่าเป็นของเหม็น แต่เราพิจารณาว่าเป็นของหอมน่ารัก โง่ไหมคนเรา”
และเมื่อเทศน์จบลงท่านชอบถามผู้ฟังว่า “ฟังเทศน์หลวงตาดีไหม” คำถามเช่นนี้ ท่านบอกว่า หมายถึงการฟังธรรมครั้งนี้ได้รับความสงบเย็นของจิตไหม และเกิดสังเวชในความชั่วไหม ?
ท่านชอบตักเตือนเสมอว่าการปฏิบัติธรรมนั้นอย่างที่ท่านบูรพาจารย์ทั้งหลายดำเนินมานั้น ท่านพยายามไม่ให้เกิดความเบื่อหน่ายในการปฏิบัติธรรม พยายามให้เกิดความสนใจในธรรมปฏิบัติอยู่เสมอ การที่เราเกิดความเบื่อหน่ายในธรรมปฏิบัตินี้เป็นการที่เราจะดำเนินไปไม่ได้นาน และจะเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมาก แต่เกิดความสังเวชในธรรมบางอย่างนั้นเป็นการดี เพราะจะเป็นประโยชน์แก่เราผู้ปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง แต่ถ้าเบื่อหน่ายในความชั่วไม่เป็นไร เพราะถ้าเบื่อหน่ายในความชั่วแล้วก็เร่งพยายามทำความดีต่อไป ปัจฉิมบท
ในปี พ.ศ.2517 นับเป็นปีที่ 4 ที่หลวงปู่ตื้อ อจลธนฺโม ได้อยู่จำพรรษาที่วัดอรัญญวิเวก บ้านเช่า แดนมาตุภูมิของท่าน ในพรรษานี้ใครเลยจะนึกว่า ท่านจะจากพวกเราไปอย่างไม่มีวันกลับ ก่อนเข้าพรรษาท่านเคยพูดเสมอว่า
“ใครต้องการอะไรก็ให้เร่งรีบสร้างเอา คุณงามความดีทั้งหมดอยู่ที่ตัวของเราแล้ว ขันธ์ 5 นี้ เมื่อมันยังไม่แตกดับก็อาศัยมัน แตกดับแล้วก็อาศัยอะไรมันไม่ได้ ขันธ์ 5 ของหลวงตาก็จะดับแล้วเหมือนกัน”
และบ่อยครั้งที่ท่านพูดว่า “ธาตุลมของหลวงตาได้วิบัติแล้ว บางครั้งมันเข้าไปแล้วก็ไม่ออกมา นานที่สุดจึงออกมา และเมื่อมันออกมาแล้วก็ไม่อยากจะเข้าไป”
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2517 ก่อนเข้าพรรษา คณะศิษยานุศิษย์ได้ไปกราบถวายความเคารพและถวายเครื่องสักการะเพื่อขอคารวะต่อท่าน ท่านก็ยังแข็งแรงดี ลุกขึ้นนั่ง และก็แสดงธรรมให้ฟังตามสมควร นับว่าเป็นการฟังเทศน์ของท่านเป็นกัณฑ์สุดท้าย กัณฑ์นี้ดูเหมือนท่านจะจงใจแสดงให้ฟังโดยเฉพาะ เมื่อจบท่านบอกว่า กัณฑ์เทศน์กัณฑ์นี้เป็นกัณฑ์สุดท้าย และเป็นหัวใจกรรมฐานของนักบวช
ท่านได้กล่าวทำนองว่า “วันนี้จงฟังเทศน์ให้ดีๆ และจำเอาไว้เพราะต่อไปจะหาฟังได้ยาก ในโลกนี้ไม่มีใครจะแสดงธรรมได้เหมือนหลวงตาหรอก”
ท่านแสดงธรรมแต่ละครั้งนั้นนานมาก ท่านได้สงเคราะห์ทั้งวัตถุธรรมและนามธรรม ท่านได้ให้อะไรสารพัดอย่าง บางครั้งท่านได้หยุดในระหว่างเทศน์ เมื่อเทศน์จบลงแล้วท่านบอกว่า
“ขันธ์ 5 จะดับแล้ว ธาตุลมวิบัติแล้ว” จึงได้กราบเรียนถามท่านว่า “ท่านหลวงตาไม่เหนื่อยหรือ ?”
ท่านบอกว่า “ขันธ์ 5 จะได้หยุดการแสดงธรรมเหมือนกัน แต่ถ้าจิตไม่หยุดมันก็หยุดไม่ได้ การแสดงธรรมเป็นหน้าที่ของเรา เกิดมาก็เพื่อทำประโยชน์ทั้งนั้น ได้ความดีแล้วก็ต้องทำความดีเพื่อความดีอีก คนเกิดมารู้จัก พุทโธ ธัมโม สังโฆ จึงจะเป็นคน ไม่ใช่สัตว์ เราต้องรู้จักพระธรรมให้ดีที่สุด” จึงจะเรียกได้ว่า พระมหาเปรียญ พระนักธรรม พระกรรมฐาน
เช้าวันที่ 19 กรกฎาคม 2517 ท่านฉันเช้าตามปกติแต่ก็ไม่มากนัก สังเกตดูอาการท่านเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียมากทีเดียว นับแต่เวลาเช้าไปท่านพักผ่อนเล็กน้อย แสดงธรรมตลอดแต่พูดเบามาก
ขณะที่ท่านกำลังเทศน์อยู่นั้น มีพระภิกษุสามเณรจากต่างจังหวัด มาถวายสักการะและรับฟังโอวาท ท่านให้ลูกศิษย์ช่วยพยุงลุกขึ้นนั่ง เมื่อลุกขึ้นนั่งแล้ว ท่านพูดว่า “สังขารไม่เที่ยง หลวงตาเกิดมาก่อน ก็ต้องไปก่อนตามธรรมดา” ท่านเทศน์ประมาณ 15 นาที คณะสงฆ์นั้นก็ลากลับไป
ขณะนั้นเวลาประมาณ 16 นาฬิกา ท่านเหนื่อยมากที่สุด พูดเบามาก ท่านบอกว่า “ลมวิปริตแล้ว ไม่มีแล้ว”
จากนั้นท่านได้ให้พรลูกศิษย์ว่า
“พุทฺโธ สุโข ธมฺโม สุโข สงฺโฆ สุโข จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ”
แล้วท่านก็หัวเราะและยิ้มให้ลูกศิษย์ อันเป็นลักษณะเดิมของท่าน แสดงว่าท่านมีอารมณ์ดีไม่สะทกสะท้านต่ออาการที่เกิดขึ้น ในขณะนั้นมีท่านอาจารย์อุ่น ท่านอาจารย์วาน และพระภิกษุสามเณรหลายสิบรูปเฝ้าดูอาการของท่านด้วยความเป็นห่วงเป็นใย แม้ท่านจะเหนื่อยมากสักปานใดก็ตาม แต่ท่านก็ยังพูดอยู่เรื่อยๆ ถึงเสียงจะเบา แต่ก็พอฟังรู้เรื่องว่าท่านพูดอะไร
วาระสุดท้ายท่านพูดว่า “ธาตุในหลวงตาวิปริตแล้ว”
จากนั้นท่านไม่พูดอะไรอีกเลย กิริยาอาการทุกอย่างสงบเงียบทุกคนแน่ใจว่า หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้ถึงมรณภาพแล้ว เวลา 19 นาฬิกาเศษ ท่ามกลางสานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ด้วยความอาลัยยิ่ง แต่เชื่อมั่นเหลือเกินว่าท่านได้ไปถึงสันติสุขที่สุดแล้ว สิริรวมอายุได้ 86 ปี
|
หลวงปู่จันทร์ เขมิโย
|
 |
ประวัติและปฏิปทา พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย)
วัดศรีเทพประดิษฐาราม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม
๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) มีนามเดิมว่า จันทร์ สุวรรณมาโจ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2524 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1 (เดือนอ้าย) ปีมะเส็ง เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 6 คน ของนายวงศ์เสนา และนางไข สุวรรณมาโจ ครอบครัวประกอบอาชีพทำนาทำไร่ ชาติภูมิอยู่ที่บ้านท่าอุเทน หมู่ที่ 3 ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
ในวัยเยาว์ เด็กชายจันทร์ สุวรรณมาโจ มีสุขภาพไม่ค่อยจะแข็งแรงเพราะป่วยเป็นโรคหืด ครั้นเจริญวัยใหญ่โตขึ้นมาโรคนี้ก็หายขาดไป จนกระทั่งเมื่อท่านมีอายุได้ 60 ปี โรคหืดนี้ก็กลับกำเริบขึ้นมาอีก
ครั้นถึงปีพุทธศักราช 2431 เด็กชายจันทร์ สุวรรณมาโจ ได้เรียนหนังสืออักษรไทยน้อย หัดเขียนหัดอ่านจากหนังสือผูกโบราณ วรรณคดีพื้นบ้านซึ่งประชาชนในสมัยนั้นนิยมอ่านกันมาก
๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
ในปีพุทธศักราช 2434 ขณะที่เด็กชายจันทร์ สุวรรณมาโจ อายุได้ 10 ขวบ นายวงศ์เสนา สุวรรณมาโจ ผู้เป็นโยมบิดาได้ล้มป่วยและถึงแก่กรรมลง ในงานฌาปนกิจศพของโยมบิดา เด็กชายจันทร์ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร (บวชหน้าไฟ) เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่โยมบิดา โดยมี พระอาจารย์ขันธ์ ขนฺติโก วัดโพนแก้ว ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากเสร็จงานศพของโยมบิดาแล้ว สามเณรจันทร์ สุวรรณมาโจ ก็มิได้ลาสิกขา มุ่งหน้าบวชต่อไปเพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียนตามประเพณี การศึกษาเล่าเรียนในสมัยนั้น หนังสือที่ใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนจะเป็นคัมภีร์โบราณเขียนจารเป็นอักษรขอม อักษรธรรม ยากแก่การศึกษาเล่าเรียน ต้องอาศัยความพากเพียรพยายามอย่างมากจึงจะประสบความสำเร็จ
สามเณรจันทร์ สุวรรณมาโจ ได้ศึกษาอักษรสมัยกับ พระอาจารย์เคน อุตฺตโม เมื่อแตกฉานเชี่ยวชาญดีแล้ว จึงเรียนบาลีเดิมที่เรียกว่ามูลกัจจายน์ และคัมภีร์สัททาสังคหปฏิโมกข์ ปรากฏว่าสามเณรจันทร์อ่านเขียนและท่องจำได้คล่องแคล่ว จนมีผู้มาขอร้องให้ท่านช่วยจารหนังสืออักษรขอม อักษรธรรมอยู่เสมอ นอกจากสนใจในด้านพระปริยัติธรรมแล้ว สามเณรจันทร์ สุวรรณมาโจ ก็ยังสนใจในการปฏิบัติกรรมฐานอีกด้วย จึงได้ไปศึกษากรรมฐานในสำนักของ พระอาจารย์ศรีทัศน์ ญาณสัมปันโน ที่วัดโพนแก้ว จังหวัดนครพนม เป็นเวลาหลายปี
พระอาจารย์ศรีทัศน์นับว่าเป็นพระสงฆ์ที่ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง เคยเดินธุดงค์ไปบำเพ็ญกรรมฐาน แสวงหาวิเวกในสถานที่ต่างๆ จนถึงเขตประเทศพม่า และได้รับพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศพม่า ครั้นเดินทางกลับถึงอำเภอท่าอุเทนแล้ว ได้ชักชวนประชาชนก่อสร้างพระธาตุท่าอุเทนขึ้น เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากประเทศพม่า ใช้เวลาสร้าง 7 ปี จึงแล้วเสร็จ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระธาตุท่าอุเทนจึงเป็นปูชนียสถานแห่งหนึ่งของจังหวัดนครพนม ตั้งตระหง่านอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำโขงจนถึงทุกวันนี้
สามเณรจันทร์ สุวรรณมาโจ ศึกษาเล่าเรียนอักษรสมัย และปฏิบัติกรรมฐานอยู่มาจนถึงอายุ 19 ปี ในขณะเดียวกันท่านก็รู้สึกเป็นห่วงโยมมารดาและครอบครัว อยากจะช่วยเหลือครอบครัวให้รอดพ้นจากความอยากยากจน คราวใดได้ลาภสักการะมา ก็มักจะส่งไปให้โยมมารดา ในกาลต่อมา เพื่อนสามเณรรุ่นเดียวกันมาชักชวนให้ลาสิกขาไปทำการค้า สามเณรจันทร์เห็นว่าเป็นหนทางที่จะร่ำรวยช่วยเหลือทางบ้านได้ จึงตัดสินใจไปขอลาสิกขากับพระอุปัชฌาย์ ซึ่งท่านก็อนุญาตให้สึกได้ตามประสงค์
หลังจากลาสิกขาแล้ว นายจันทร์ สุวรรณมาโจ ก็เข้าหุ้นกับเพื่อนร่วมกันทำมาค้าขาย ตอนแรกรู้สึกว่าร่ำรวยทำมาค้าขึ้น ในระหว่างนั้นก็มีเจ้านายที่เคารพนับถือมาขอร้องให้ไปช่วยจารหนังสือขอม-หนังสือธรรมให้อยู่เสมอ ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาดูแลกิจการค้าขายอย่างเต็มที่ ส่วนเวลากลางคืนยังมีเจ้านายมากะเกณฑ์ให้ไปอยู่เวรยามมิได้ขาด ชั่วเวลาเพียงไม่กี่เดือน การค้าขายที่คาดกันไว้ว่าจะร่ำรวยกลับมีแต่ทรุด เป็นเหตุให้นายจันทร์เกิดความเบื่อหน่าย ต้องล้มเลิกกิจการค้าขายไป ท่านรู้สึกไม่สบายใจในชีวิตฆราวาส ซึ่งมีแต่ความสับสนวุ่นวาย แก่งแย่งเอารัดเอาเปรียบกัน หาความเที่ยงธรรมและความสงบสุขได้ยาก
นอกจากนี้ตลอดระยะเวลา 5 เดือน ที่อยู่เป็นฆราวาส หนุ่มจันทร์ยังมีสตรีเพศเข้ามาติดต่อพัวพันยั่วยวนด้วยวิธีการต่างๆ นานา ยิ่งทำให้หนุ่มจันทร์รู้สึกอึดอัดใจ ในที่สุดหนุ่มจันทร์ก็ตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะกลับมาบวชอีก ประกอบกับตอนนั้นอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงมุ่งหน้าเข้าสู่ร่มเงาผ้ากาสาวพัสตร์ ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในปีพุทธศักราช 2445 โดยมี พระอาจารย์เหล่า ปญฺญาวโร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์เคน อุตฺตโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์หนู วิริโย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “เขมิโย” อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดโพนแก้ว จังหวัดนครพนม และได้พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว พระภิกษุจันทร์ เขมิโย ก็ถูกพวกสตรีเพศที่เคยมาติดพันท่านสมัยเป็นฆราวาส มารบกวนไปมาหาสู่อยู่เนืองๆ ท่านเห็นว่า ถ้าขืนอยู่ที่วัดโพนแก้วต่อไป สตรีเพศคงจะมารบกวนยั่วยวนเช่นนี้เรื่อยไป จะทำให้เกิดความเศร้าหมองแก่เพศพรหมจรรย์เข้าสักวัน จึงตัดสินใจกราบลาพระอุปัชฌาย์ ย้ายไปอยู่วัดพระอินทร์แปลง และในขณะเดียวกันพระอาจารย์เคน อฺตฺตโม ผู้ที่เคยอบรมสั่งสอนท่าน ต้องย้ายไปอยู่วัดพระอินทร์แปลง เพื่อเป็นเจ้าอาวาส ดังนั้นพระภิกษุจันทร์ เขมิโย จึงย้ายติดตามพระอาจารย์เคนไปด้วย ในปี พ.ศ.2445 นั่นเอง พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล วัดเลียบ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน พร้อมด้วย พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นพระครูอยู่วัดใต้ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ได้เดินทางผ่านมาถึงจังหวัดนครพนม มาปักกลดปฏิบัติธรรมอยู่ภายใต้ต้นโพธิ์ตอนใต้เมืองนครพนม ประชาชนจำนวนมากพากันไปกราบไหว้ฟังธรรม และขอรับแนวทางการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญสมาธิมิได้ขาด พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ข้าหลวงเมืองนครพนม ทราบข่าว จึงไปกราบนมัสการและสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ทั้งสอง
การกราบพบปะสนทนากันในครั้งนั้น พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ได้ชี้แจงความเป็นมาของตน ว่าเคยเป็นศิษย์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิราญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ พร้อมทั้งได้เล่าถึงพฤติกรรมของพระภิกษุสามเณร ในจังหวัดนครพนมให้ท่านทราบ และขอให้ช่วยหาทางแก้ไขด้วย พระอาจารย์เสาร์จึงแนะนำให้เสาะหาคัดเลือกพระภิกษุสามเณร ผู้เฉลียวฉลาดมีความประพฤติดี และสมัครใจที่จะทำทัฬหิกรรมญัตติเป็นพระภิกษุสามเณรในคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เพื่อไปอยู่ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติในสำนักของพระอาจารย์ทั้งสอง ให้มีความหนักแน่นมั่นคงในพระธรรมวินัยแล้ว จึงส่งกลับมาอยู่นครพนมตามเดิม จะได้ช่วยกันแก้ไขความประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรในจังหวัดนครพนมให้ดีขึ้น
พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ข้าหลวงเมืองนครพนม ได้เสาะแสวงหาพระภิกษุสามเณรที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ทาบทามพระภิกษุได้ 5 รูป และสามเณรอีก 1 รูป 4 รูปนั้น มีพระภิกษุจันทร์ เขมิโย รวมอยู่ด้วย พระยาสุนทรฯ ได้นำพระภิกษุสามเณรทั้ง 5 รูป มาถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์เสาร์และพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ)
พระภิกษุจันทร์ เขมิโย นั้นมีความรู้พื้นฐานทางสมถกรรมฐานอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเข้ามาเป็นศิษย์ของพระอาจารย์เสาร์ จึงรู้สึกถูกอัธยาศัยเป็นอย่างยิ่ง ข้อวัตรปฏิบัติใดที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็ตั้งใจศึกษาและเรียนถามจากครูบาอาจารย์ พร้อมทั้งใส่ใจฝึกปฏิบัติสมาธิอย่างจริงจัง มีความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติกรรมฐานอย่างรวดเร็ว ในปลายปี พ.ศ.2445 พระอาจารย์เสาร์ และพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) ก็ได้อำลาประชาชนเดินทางกลับสู่จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยพระภิกษุ 4 รูป คือ พระภิกษุจันทร์ เขมิโย (ต่อมาได้เป็นท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์) พระภิกษุสา พระภิกษุหอม พระภิกษุสังข์ และสามเณรอีก 3 รูป ในจำนวน 3 รูปนี้ มีสามเณรจูม จันทรวงศ์ (ต่อมาได้เป็น พระธรรมเจดีย์) รวมอยู่ด้วย คณะของพระอาจารย์เสาร์ได้จาริกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ หยุดพักรอนแรมกลางป่าดงพงไพร ได้พบสัตว์ป่านานาชนิด มีเสือ มีช้าง กวาง ละมั่ง ควายป่า เป็นต้น
เมื่อเจอสัตว์ป่า พระอาจารย์เสาร์ก็สั่งให้คณะนั่งลงกับพื้นดิน แล้วแผ่เมตตาให้สัตว์เหล่านั้น พระภิกษุสามเณรทุกรูปก็แคล้วคลาดปลอดภัย ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) เล่าไว้ว่า ในการบำเพ็ญกรรมฐานในป่านั้น ประการสำคัญต้องทำตนให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ซึ่งผู้ปฏิบัติทั่วไปมักจะมีความวิตกกังวล ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ต่อจากนั้นก็มีอันเป็นไป หากมีศีลบริสุทธิ์ จิตก็สงบเป็นสมาธิได้ง่าย และอีกประการหนึ่งจะต้องยึดมั่นในพระรัตนตรัย ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณอยู่เสมอ
ในการเดินทางครั้งนั้น คณะของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ได้เดินทางมาทางพระธาตุพนม ไปมุกดาหาร อำนาจเจริญ แล้วเข้าสู่ตัวเมืองอุบลราชธานีไปพำนักอยู่ที่วัดเลียบ ในขณะเดียวกันพระภิกษุจันทร์ เขมิโย ก็เป็นพระพี่เลี้ยงอบรมอักขระฐานกรณ์และคำขอญัตติเพื่อทำทัฬหิกรรมเป็นพระธรรมยุติกนิกายต่อไป เมื่อท่องบทสวดต่างๆ ได้คล่องแคล่วแล้ว พระอาจารย์เสาร์ก็นำคณะพระภิกษุจันทร์ เขมิโย ไปประกอบพิธีทัฬหิกรรมญัตติ เป็นพระภิกษุสามเณรในคณะธรรมยุติกนิกายโดยสมบรูณ์ ณ พระอุโบสถวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระสังฆรักขิโต (พูน) วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูหนู ฐิตปญฺโญ (ต่อมาได้เป็นพระปัญญาพิศาลเถร) วัดใต้ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูประจักษอุบลคุณ (พระอาจารย์สุ้ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาเดิมคือ “เขมิโย”
หลังจากอุปสมบทแล้ว พระภิกษุจันทร์ก็พำนักจำพรรษา ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อศึกษาข้อวัตรปฏิบัติกับพระอาจารย์เสาร์ ทางด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม พระภิกษุจันทร์ก็มิได้ทอดทิ้ง ท่านสนใจในการเรียนรู้อย่างมิรู้เบื่อหน่าย พยายามศึกษาพระปริยัติธรรมแผนใหม่ ได้แก่ วิชาธรรมะ วิชาวินัย วิชาพุทธประวัติ และวิชาอธิบายกระทู้ธรรม ฯลฯ ซึ่ง ท่านเจ้าประคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ได้นำมาเผยแผ่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนแนวทางการปฏิบัติกรรมฐานนั้น พระภิกษุจันทร์ได้ฝึกอบรมในสำนักของ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) จนมีความรู้ความก้าวหน้าทั้งด้านปริยัติและด้านปฏิบัติอย่างแท้จริง มีจิตใจคงมั่นไม่หวั่นไหวต่อสิ่งเย้ายวน ทางด้านพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ข้าหลวงประจำเมืองนครพนม ได้มีหนังสือฉบับหนึ่งส่งไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ส่วนอีกฉบับหนึ่งส่งไปกราบทูล พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ประจำมณฑลอุบลราชธานี เพื่อขอนิมนต์ตัวพระภิกษุจันทร์ เขมิโย กลับไปตั้ง “สำนักคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย” ขึ้นที่เมืองนครพนม
พระอาจารย์เสาร์จึงนำพระภิกษุจันทร์ เขมิโย เข้าพบกรมหลวงสรรพสิทธิฯ พระองค์ท่านทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุจันทร์ยังหนุ่มน้อยเช่นนั้น จึงรีบสั่งด้วยความห่วงใยว่า “พระอย่างคุณน่ะหรือ จะนำคณะธรรมยุติไปตั้งที่จังหวัดนครพนม รูปร่างเล็ก ยังหนุ่มแน่น ประสบการณ์ยังอ่อน หาพอที่จะรักษาตัวและหมู่คณะได้ ไม่น่าจะไปตายเพราะผู้หญิง ฉันเกรงว่าจะนำวงศ์ธรรมยุติไปทำเสื่อมเสียซะมากกว่า... ”
พระอาจารย์เสาร์ได้ฟังดังนั้น จึงถวายพระพรเล่าถึงปฏิปทาจรรยามารยาท และความเป็นผู้หนักแน่นในพระธรรมวินัยของพระภิกษุจันทร์ ผู้เป็นศิษย์ ให้ทราบทุกประการ
หลังจากได้ฟังคำบอกเล่าจากพระอาจารย์เสาร์แล้ว กรมหลวงสรรพสิทธิฯ ก็ทรงอนุญาตให้พระภิกษุจันทร์ เขมิโย พร้อมด้วยคณะ เดินทางไปจังหวัดนครพนม พร้อมกับทรงออกหนังสือรับรองเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้หนึ่งฉบับ มีใจความว่า “ให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในเส้นทางที่เดินผ่าน ให้จัดคนตามส่งตลอดทาง พร้อมทั้งให้จัดที่พักอาศัย และภัตตาหารถวายด้วย” พระภิกษุจันทร์ เขมิโย พร้อมด้วยคณะได้ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครพนม ผ่านป่าดงเข้าหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่ในเส้นทาง ครั้นประชาชนทราบข่าวก็พากันไปกราบไหว้ แสดงความชื่นชมโสมนัส ท่านได้แสดงธรรมโปรดประชาชนมาเป็นระยะๆ
การเดินทางไปสมัยนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะไม่มีถนน รถยนต์ก็ไม่มี คงมีแต่ทางเดินเท้ากับทางเกวียน ซึ่งพวกพ่อค้าใช้เป็นเส้นทางติดต่อค้าขาย คณะของพระภิกษุจันทร์เดินทางรอนแรมมาเป็นเวลา 21 วันจึงลุถึงเขตเมืองนครพนม ไปหยุดยับยั้งอยู่บ้านหนองขุนจันทร์ ทางทิศใต้ของเมืองนครพนม พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ เจ้าเมืองนครพนม ทราบข่าวก็จัดขบวนออกไปต้อนรับ นิมนต์พระสงฆ์สามเณรขึ้นนั่งบนเสลี่ยง หามแห่เข้าเมืองแล้วนำไปพักจำพรรษาอยู่ ณ วัดศรีขุนเมือง (วัดศรีเทพประดิษฐาราม)
นับจำเดิมตั้งแต่นั้น (ปี พ.ศ.2449) เป็นต้นมา คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายได้ปักหลักตั้งมั่นในจังหวัดนครพนม พระภิกษุจันทร์ เขมิโย ได้ใช้ความรู้ความสามารถพัฒนาวัดศรีขุนเมือง (วัดศรีเทพประดิษฐาราม) ให้เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา แต่ก่อนวัดศรีขุนเมือง (วัดศรีเทพประดิษฐาราม) เป็นวัดรกร้างว่างเปล่า ไม่มีพระสงฆ์อยู่พักจำพรรษา สภาพโดยทั่วไปจึงรกร้าง เสนาสนะและอุโบสถทรุดโทรม พระภิกษุจันทร์ได้ขอความอุปถัมภ์บำรุงจากทางราชการโดยมีพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ เจ้าเมืองนครพนม เป็นประธาน และขอความอุปถัมภ์จากคณะศรัทธาชาวบ้านซึ่งมีขุนทิพย์สมบติ เป็นหัวหน้า ปรากฏว่าได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายด้วยดี
หลังจากที่กลับมาอยู่จังหวัดนครพนม พระภิกษุจันทร์ เขมิโย มีงานที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง ทั้งงานปกครอง งานการศึกษา และงานเผยแผ่อบรมสั่งสอนประชาชน ในโอกาสต่อมา ทางราชการประสงค์จะแต่งตั้งท่านให้เป็นเจ้าคณะเมือง (คือเจ้าคณะจังหวัด) ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ท่านได้พิจารณาเห็นว่าตัวเองยังมีอายุพรรษาน้อยเพียง 7 พรรษาเท่านั้น ขาดประสบการณ์ในการปกครองคณะสงฆ์และความรู้ก็น้อย ท่านจึงปฏิเสธไม่ขอรับตำแหน่งดังกล่าว แต่ขอเวลาไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมที่กรุงเทพฯ เมื่อทราบความประสงค์ดังนั้น พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ก็ได้ทำหนังสือส่วนตัวฉบับหนึ่ง กราบนมัสการเรียน ท่านเจ้าคุณพระสาสนโสภณ (เจริญ ญาณวโร) (ต่อมาได้เป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ เพื่อขอฝากฝังพระภิกษุจันทร์ เขมิโย กับคณะ ให้ได้พักอาศัยเพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ในปี พ.ศ.2451 พระภิกษุสามเณรจำนวน 5 รูป ซึ่งมีพระภิกษุจันทร์ เขมิโย เป็นหัวหน้า ก็ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยเดินเท้าจากนครพนมไปขึ้นรถไฟที่โคราช สิ้นเวลา 24 วัน จากนั้นนั่งรถไฟจากโครราชเข้ากรุงเทพฯ ไปพักอยู่วัดเทพศิรินทราวาส ท่านตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี ได้รับพัดตราธรรมจักรไว้เป็นประกาศนียบัตร
ส่วนบาลีท่านสอบไล่ได้ประโยค ป.ธ.2 กำลังหัดแปลพระธรรมบทเพื่อสอบประโยค ป.ธ.3 ก็ได้รับหนังสือนิมนต์จากพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ เจ้าเมืองนครพนม ในหนังสือฉบับนั้นกล่าวว่า พระสงฆ์ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวง ที่เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีขุนเมือง (วัดศรีเทพประดิษฐาราม) ได้มรณภาพลง ไม่มีผู้ใดจะทำหน้าที่ดูแลวัดและปกครองพระสงฆ์สามเณร ดังนั้นจึงขอให้พระภิกษุจันทร์ เขมิโย เดินทางกลับมายังเมืองนครพนม
ในขณะเดียวกัน พระยาสุนทรฯ ก็มีหนังสืออีกสองฉบับไปถวายท่านเจ้าคุณพระสาสนโสภณ และทูลถวาย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชุมพูนุท สิริวฑฺฒโน) กราบทูลถึงความเป็นมาของคณะธรรมยุติกนิกายในเมืองนครพนม และขอให้ส่งตัวพระภิกษุจันทร์ เขมิโย กลับไปเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการบริหารงานของคณะสงฆ์ต่อไป เมื่อเห็นความจำเป็นจนไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้พระภิกษุจันทร์ เขมิโย จึงเข้าเฝ้าสมเด็จพระสงฆราชเจ้าฯ เพื่อกราบทูลลา พระองค์ทรงมีพระเมตตาประทานโอวาทและนโยบายในการบริหารงานคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย พร้อมทั้งได้ประทานกับปิยภัณฑ์เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับจำนวน 80 บาท (ในสมัยนั้นถือว่าเป็นจำนวนมากพอสมควร)
นอกจากนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ยังได้ประทานหนังสือเรียนทั้งนักธรรมและบาลีเป็นจำนวนมากมาย บรรทุกรถลากได้ 3 คันรถ พระภิกษุจันทร์เดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดนครราชสีมาโดยรถไฟ ต่อจากนั้นจึงจ้างเกวียนบรรทุกสิ่งของและหนังสือ เดินทางผ่านจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย ครั้งถึงจังหวัดหนองคายก็หมดระยะทางเกวียน ต้องจ้างเรือกลไฟของฝรั่งเศสบรรทุกสิ่งของไปตามแม่น้ำโขงจนกระทั่งถึงจังหวัดนครพนม
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระภิกษุจันทร์ เขมิโย ก็ทำหน้าที่บริหารงานคณะสงฆ์ เพียรอุทิศชีวิตเพื่อพิทักษ์ฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ท่านได้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยแผนใหม่ขึ้นที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม พร้อมทั้งได้เปิดสอนปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรม แผนกธรรมศึกษา และแผนกบาลี พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) เป็นผู้มีปฏิปทาอันน่าเลื่อมใสและควรยึดถือเป็นแบบอย่าง ท่านเป็นพระนักพัฒนาที่เอาจริงเอาจังและทำงานอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากการบูรณปฏิสังขรณ์วัดร้าง (วัดศรีขุนเมือง) ให้เจริญรุ่งเรือง มีอุโบสถ ศาลาบำเพ็ญกุศล เสนาสนะสงฆ์ และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีกมาก เป็นต้น
นอกจากการพัฒนาทางด้านวัตถุแล้ว พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณฯ ยังได้พัฒนาจิตใจของคณะศรัทธาญาติโยมและประชาชนทั่วไปควบคู่กันไปด้วยในวันธรรมสวนะ ทั้งในและนอกพรรษา พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณฯ ก็จะแสดงธรรมให้พระภิกษุ สามเณร อุบาสก และอุบาสิกา ฟังเป็นประจำ นอกจากนั้น พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณฯ ยังได้แนะนำฝึกอบรมพระสงฆ์ สามเณร อุบาสก และอุบาสิกา ให้ได้รู้จักปฏิบัติกรรมฐานเจริญสมาธิภาวนา เพื่ออบรมจิตใจให้มีความมั่นคง ไม่หวั่นไหวไปตามโลกธรรม
ในปี พ.ศ.2464 พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ผู้เคยเป็นอาจารย์ของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณฯ ได้ออกเดินธุดงค์กรรมฐาน จาริกแสวงหาความวิเวกจากจังหวัดอุบลราชธานีมาถึงจังหวัดนครพนม และได้มาพำนักอยู่วัดศรีเทพประดิษฐาราม ซึ่งตอนนั้นยังเป็นป่าใหญ่เหมาะสมแก่การบำเพ็ญเพียร พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณฯ ได้ออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์เสาร์ไปด้วย โดยมุ่งข้ามไปฝั่งประเทศลาว เนื่องจากมีภูเขาสลับซับซ้อน มีถ้ำหรือเงื้อมเขามากมาย ควรแก่การเข้าไปพักอาศัยบำเพ็ญภาวนาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อท่านเดินธุดงค์ผ่านไปถึงหมู่บ้านใด ก็จะชี้แจงแสดงธรรมให้ชาวบ้านเข้าใจหลักพระพุทธศาสนา และให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลห้า
ต่อมาในปี พ.ศ.2471 พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณฯ และลูกศิษย์ได้ออกธุดงค์ข้ามไปฝั่งประเทศลาวอีกครั้งหนึ่ง ผ่านเมืองต่างๆ ของลาว ไปจนถึงเขตประเทศเวียดนาม เดินธุดงค์ต่อไปผ่านเมืองท่าไฮฟอง เมืองเว้ เมืองไซง่อน ได้ประสบพบเห็นความทุกข์ยากลำบากของชาวเวียดนามเพราะข้าวปลาอาหารไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์
คุณงามความดีที่พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณฯ ได้ประพฤติปฏิบัติมาด้วยความเพียรพยายามอย่างสุดความสามารถ ทำให้กิจการพระศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ สามารถปลูกศรัทธาปสาทะให้เกิดขึ้นในจิตใจของคณะศรัทธาญาติโยมและประชาชนทั่วไป จึงทำให้ทางการบ้านเมืองและคณะสงฆ์เห็นความสำคัญของท่าน จึงได้ยกย่องเทิดทูนท่านไว้ในตำแหน่งสมณศักดิ์ตามลำดับ ดังนี้
พ.ศ.2474 ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรพัดยศที่ พระครูสารภาณพนมเขต ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดนครพนม
พ.ศ.2480 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสารภาณมุนี
พ.ศ.2496 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารภาณมุนี
พ.ศ.2502 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสิทธาจารย์ ธรรมโอวาท
พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) เป็นพระสงฆ์ที่แสดงธรรมได้จับใจไพเราะ มีโวหารปฏิภาณดี ธรรมโอวาทของท่านที่พร่ำสอนพระภิกษุสามเณร และคณะศรัทธาญาติโยมอยู่เสมอ คือ เรื่อง “การเตรียมตัวเตรียมใจ” ซึ่งมีใจความดังนี้
“เราเกิดมาในชาติหนึ่งๆ อย่าปล่อยให้ร่างกายของเราเหมือนเรือไหลล่อง ผู้เป็นเจ้าของต้องเตรียมตัวระมัดระวังหางเสือของเรือไว้ให้ดี ผู้ใดเผลอผู้ใดประมาท ผู้นั้นมอบกายของตนให้เป็นเรือไหลล่องไปตามกระแสน้ำ ผู้นั้นเรียกว่า โง่น่าเกลียดฉลาดน่าชัง เป็นยาพิษ เรือที่เรานั่งไปนั้นหากมันล่มลงในกลางน้ำ จระเข้ก็จะไล่กิน กระโดดขึ้นมาบนดิน ฝูงแตนก็ไล่ต่อย คนเราเกิดมามีกิเลส เรียกว่า กิเลสวัฏฏะ เป็นเชือกผูกมัดคอ
ผู้มีกิเลสต้องทำกรรม เรียกว่า กรรมวัฏฏะ ซึ่งก็เป็นเชือกมัดคออีกเส้นหนึ่ง ผู้ที่ทำกรรมไว้ย่อมจะได้เสวยผลของการกระทำ เรียกว่า วิปากวัฏฏะ เป็นเชือกเส้นที่สามมัดคอไว้ในเรือนจำ เราทุกคนต้องสร้างสมอบรมปัญญา ซึ่งสามารถทำลายเรือนจำให้แตก ผู้ใดทำลายเรือนจำไม่ได้ ผู้นั้นก็จะเกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะนี้เรื่อยไป เพราะฉะนั้น เราทุกคนจะต้องเตรียมตัวเป็นนักกีฬา ต่อสู้ทำลายเรือนจำให้มันแตก อย่าให้มันขังเราไว้ต่อไป คนเราจะไปสวรรค์ก็ได้ ไปนิพพานก็ได้ ไปสู่อบายภูมิก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ต้องดำเนินชีวิตในทางที่ดีที่งาม
อยากดีต้องทำดีเป็น อยากได้ต้องทำได้เป็น อยากดีต้องละเว้นทางเสื่อม ตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้ นิททาสีลี อย่าพากันนอนตื่นสาย สภาสีลี ผู้ใดอยากดี อย่าพากันพูดเล่น อนุฏฐาตา ผู้ใดอยากดี ให้พากันขยันหมั่นเพียร อลโส ผู้ใดอยากดี อย่าเป็นคนเกียจคร้าน ผู้ใดอวดเก่งผู้นั้นเป็นคนขี้ขลาด ผู้ใดอวดฉลาดผู้นั้นเป็นคนโง่ ผู้ใดคุยโวผู้นั้นเป็นคนไม่เอาถ่าน อยากเป็นคนดีต้องทำดีถูก เรียนหนังสือเพื่อรู้ ดูหนังสือเพื่อจำ ทำอะไรต้องหวังผล เกิดมาเป็นคนต้องมีความคิด อุบายเครื่องพ้นทุกข์ไม่ใช่อยู่ที่อื่นไกล หากแต่อยู่ที่มีสติสัมปชัญญะรอบคอบในทุกอิริยาบถ” ปัจฉิมบท
ด้วยเหตุนี้พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณหลวงปู่พระเทพสิทธาจารย์ เป็นพระเถระผู้ใหญ่มีอายุพรรษาสูง เปี่ยมล้นด้วยประสบการณ์ ทรงไว้ซึ่งคุณธรรม มีพรหมวิหารธรรมเป็นที่ตั้ง กิริยามารยาทนุ่มนวล มีวาจาไพเราะ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ท่านจึงเป็นที่เคารพสักการบูชาของพระภิกษุสามเณร และคฤหัสถ์ทั่วไป
ผู้ที่เคารพนับถือท่านเจ้าคุณหลวงปู่มากก็มี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพฯ ซึ่งมักไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ อีกรูปหนึ่งที่เคารพรักหลวงปู่มากถึงกับฝากตัวเป็นลูกคือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ มักจะเรียกหลวงปู่เจ้าคุณว่า “หลวงพ่อ” และหลวงปู่เจ้าคุณก็เรียกสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ สมัยเป็นเจ้าคุณว่า “เจ้าคุณลูก” หลวงปู่เจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์นับว่าเป็นพระสุปฏิปันโนชั้นเยี่ยมองค์หนึ่ง ท่านได้ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเรื่อยมา เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปริยัติและปฏิบัติ
กาลเวลาผ่านไป วัยสังขารและรูปกายของท่านเจ้าคุณหลวงปู่พระเทพสิทธาจารย์ ก็เป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ ย่อมแตกดับสลายไปในที่สุด ดุจผลไม้สุกงอมเต็มที่ ย่อมร่วงหล่นหลุดจากขั้ว ฉะนั้น สุดวิสัยที่คณะแพทย์จะช่วยไว้ได้ ท่านถึงมรณภาพด้วยโรคชรา ในวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2516 สิริรวมอายุได้ 92 ปี พรรษา 72 ศพของหลวงปู่เจ้าคุณได้เก็บรักษาไว้ให้คณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ และประชาชนโดยทั่วไป ได้กราบไหว้บูชาและบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายเรื่อยมา จนถึงวันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2522 จึงได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพของท่าน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ ทางฝ่ายคณะสงฆ์ก็มี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ พร้อมด้วยพระเถรานุเถระและคณาจารย์ทั่วประเทศ ได้ไปร่วมงานพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่เจ้าคุณเหลือคณานับ หลวงปู่จันทร์ เขมิโย กับ ปลาพระโพธิสัตว์
หลายคนคงจะสงสัยว่า การเกิดมาเพื่อบำเพ็ญบารมีเพื่อจะไปเป็นพระพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น มีจริงหรือไม่ ลองอ่านเรื่องนี้แล้วพิจารณาดู
เหตุเกิดที่จังหวัดนครพนม ณ วัดศรีเทพประดิษฐาราม โดยท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) ท่านเล่าเอาไว้ว่า มีอยู่คืนหนึ่งท่านกำลังทำสมาธิกรรมฐาน ก็ปรากฏภาพนิมิตขึ้นในสมาธิ เป็นภาพของแอ่งน้ำกำลังแห้งมีปลาอยู่ ๖ ตัว เป็นปลาหมอ ๓ ตัว ปลาดุก ๓ ตัว กำลังดิ้นรนกระเสือกกระสนอยู่ ท่านจึงกำหนดจิตถามว่า เป็นคู่เวรคู่กรรมมาทวงหนี้เวรกรรมหรือไม่
ปลาเหล่านั้นตอบว่า พวกเราเป็นพระโพธิสัตว์มาเกิดเป็นปลาเพื่อบำเพ็ญบารมี แต่ถูกกระแสกรรมทำให้ถูกนายบุญช่วย สุวรรณทรรภ จับมาขังเอาไว้ในตุ่มน้ำในสวนกล้วยติดหลังวัด ตอนนี้น้ำกำลังแห้ง ถ้าตายก่อนจะหมดโอกาสบำเพ็ญบารมี
หลวงปู่จึงถามว่า เหตุใดจึงมาปรากฏในข่ายฌานสมาธิของท่าน
ปลาโพธิสัตว์เหล่านั้นตอบว่า พวกเราตั้งจิตอธิษฐานว่า ด้วยกุศลผลบุญที่บำเพ็ญเพียรเพื่อปรารถนาพุทธภูมิในอนาคต ขอให้เราได้ปรากฏในข่ายฌานของผู้ทรงศีล ที่เคยเกื้อกูลกันมาก่อนในอดีตชาติ จึงได้มาปรากฏในข่ายวิถีฌานสมาธิของท่าน
ตอนแรกหลวงปู่คิดว่าเป็นนิมิตมายา จึงอธิษฐานจิตซ้ำว่าถ้าเป็นภาพนิมิตมายาขอให้ดับหายไป ถ้าเป็นนิมิตจริงขอให้ปลาเหล่านี้สวดพระพุทธคุณให้ได้ยิน ปรากฏว่าเมื่ออธิษฐานเสร็จ ปลาเหล่านั้นก็พากันสวดสรรเสริญพระพุทธคุณว่า นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ตัวละ ๓ จบเรียงกันไปจนครบหกตัว ท่านได้ยินดังนั้นจึงรับปากว่าจะช่วย
รุ่งเช้าท่านออกบิณฑบาตไปจนถึงบ้านของโยมอุปัฏฐาก วันนั้นลูกสาวของโยมอุปัฏฐากชื่อ เยี่ยม หอมหวล อายุขณะนั้น ๑๐ ขวบ เมื่อใส่บาตรแล้วก่อนที่หลวงปู่จะไปบ้านอื่นต่อ จึงสั่งเด็กหญิงผู้นั้นว่า ตอนสางหลังกินข้าวเสร็จแล้วให้เอาขันน้ำใบใหญ่ๆ ไปหาท่านที่วัดด้วย
หลังจากนั้นเด็กหญิงก็เอาขันน้ำไปที่วัดตามที่หลวงปู่สั่ง เมื่อไปถึงหลวงปู่ก็สั่งว่าให้เอาน้ำใส่พอประมาณและให้ไปขอปลาหกตัวกับนายบุญช่วย ที่ขังเอาไว้ในตุ่มน้ำในสวนกล้วยติดกับหลังวัด ซึ่งเด็กหญิงผู้นี้ก็รู้จัก พร้อมกำชับไว้ด้วยว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตามต้องเอาปลามาให้ได้
เมื่อเด็กหญิงไปถึงพบนายบุญช่วย จึงบอกว่าเจ้าคุณปู่ให้มาขอปลาหกตัว เป็นปลาหมอ ๓ ตัวปลาดุก ๓ ตัวที่ขังไว้ในสวนก |
หลวงปู่คำพันธ์ โฆษปัญโญ
|
 |
ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ
วัดธาตุมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม
๏ อัตโนประวัติ
“พระเดชพระคุณพระสุนทรธรรมากร” หรือ “หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ” อดีตเจ้าอาวาสวัดธาตุมหาชัย บ้านมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม ผู้เรืองธรรม มีปฐวีกสิณเป็นเอก เล่นแร่แปรธาตุจนดังสนั่น ชื่อเสียงเลื่องลือ ๒ คาบฝั่งโขง เป็นสมัญญานามที่ผู้คนต่างรู้จักดีถึงกับมีการขนานนามท่านว่า “เทพเจ้าลุ่มน้ำโขง”
หลวงปู่คำพันธ์ มีนามเดิมว่า คำพันธ์ ศรีสุวงค์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๒ ปีเถาะ ณ บ้านหมู่ที่ ๔ ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายเคน และนางล้อม ศรีสุวงค์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๒ คน ท่านเป็นบุตรคนโต มีชื่อตามลำดับดังนี้
(๑) หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ (มรณภาพแล้ว)
(๒) นายพวง ศรีสุวงค์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
และมีน้องร่วมมารดา แต่ต่างบิดากันอีก ๔ คน ตามลำดับดังนี้
(๑) นางสด วงษ์ผาบุตร (ถึงแก่กรรมแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗)
(๒) ด.ช.บด แสนสุภา (ถึงแก่กรรมแล้ว)
(๓) ด.ญ.สวย แสนสุภา (ถึงแก่กรรมแล้ว)
(๔) นางกดชา เสนาช่วย (ถึงแก่กรรมแล้ว)
วัยเด็กเป็นคนขยันขันแข็ง ช่วยโยมบิดา-โยมมารดาทำนา อุปนิสัยเป็นคนเรียบง่าย เรียบร้อย พูดน้อย จบการศึกษาภาคบังคับ ป. ๔ จากโรงเรียนบ้านโพนคู่ ต.พุ่มแก อ.นาแก จ.นครพนม การบรรพชาและอุปสมบท
วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕ (อายุ ๑๗ ปี) ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีบุญเรือง บ้านหนองหอย ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม โดยมีพระอาจารย์เชื่อม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาแล้ว ก็ได้ศึกษาอักษรธรรม และหนังสือสูตรคามแบบโบราณ ในขณะเดียวกันก็ได้ฝึกปฏิบัติกัมมัฎฐานควบคู่ไปด้วย
หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรได้ ๓ พรรษา ก็ออกเดินธุดงค์ทรงกรดไปที่จังหวัดเลย พร้อมกับพระภิกษุ ๒ รูป คือ พระภิกษุบุญ และพระภิกษุวัน ก่อนหน้าที่จะได้ฝึกปฏิบัติกัมมัฏฐานนั้น เคยได้รับความรู้เรื่องกัมมัฏฐานมาจาก ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งท่านไปอบรมสั่งสอนประชาชนที่วัดโพนเมือง จ.อุบลราชธานี
ท่านพระอาจารย์เสาร์ ให้แนวทางในการปฏิบัติกรรมฐานไว้ว่า “ให้กำหนดลมหายใจเข้า-ออก” และได้ให้ข้อคิดต่อไปอีกว่า “ร่างกายของคนเรานั้นเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง มันทำงานอยู่ตลอดเวลา ลมหายใจเข้า-ออกนั้น มีความสำคัญมาก ถ้าลมไม่ทำงานคนเราจะตายทันที ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดลมหายใจ”
นอกจากนั้นท่านพระอาจารย์เสาร์ยังได้ย้ำอีกว่า “ให้คนเราตีกลองคือขันธ์ ๕ ให้แตก” ซึ่งก็หมายความว่า ท่านให้ทำความเข้าใจขันธ์ ๕ ให้จงดี ให้เข้าใจตามสภาพที่เป็นจริง
หลวงปู่ได้ศึกษาภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติกับท่านพระอาจารย์เสาร์ประมาณ ๑ ปี และได้ยึดแนวทางของท่านเป็นแนวทางในการปฏิบัติเรื่อยมา นับแต่นั้นต่อมาก็ได้ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมร่วมกับ อาจารย์ครุฑ ซึ่งเป็นพระขาว (ปะขาว) และได้รับความรู้ในเรื่องการปฏิบัติธรรมจากท่านอาจารย์ครุฑนี้เพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นหลวงปู่คำพันธ์ก็ได้นำเอาแนวทางการปฏิบัติของอาจารย์ทั้ง ๒ มาเป็นแนวทางปฏิบัติกัมมัฎฐาน
หลวงปู่ได้จำพรรษาอยู่ที่จังหวัดเลย เป็นเวลา ๑ พรรษา หลังจากนั้นได้เดินธุดงค์ไปยังจังหวัดเชียงราย ประมาณ ๓-๔ เดือน ต่อมาได้รับข่าวโยมบิดาได้เสียชีวิตลง หลวงปู่จึงได้เดินทางกลับมาทำบุญงานศพบิดาและมาอยู่จำพรรษาที่บ้านเดิม คืออำเภอนาแก
พ.ศ. ๒๔๗๘ อายุ ๒๐ ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และเริ่มศึกษาพระปริยัติธรรม
พ.ศ. ๒๔๘๒ อายุ ๒๔ ปี มารดาก็ถึงแก่กรรม เวลานั้นเหลือน้องผู้หญิง ๒ คน ซึ่งยังเล็กมาก จึงได้ลาสิกขาบทออกไปเลี้ยงดูน้อง
วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๘ อายุ ๓๐ ปี ได้กลับเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุอีกครั้ง ณ พัทธสีมาวัดโพธิ์ชัย บ้านพุ่มแก ต.พุ่มแก อ.นาแก จ.นครพนม ได้รับนามฉายาว่า “โฆสปัญโญ” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีปัญญาระบือไกล” และได้ออกไปจำพรรษาที่วัดป่าเป็นเวลา ๓ พรรษา
ต่อมาก็ได้ปฏิบัติกัมมัฏฐานพร้อมเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมด้วย ที่วัดพระพุทธบาทจอมทอง บ้านหนองหอยใหญ่ ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม
หลังจากนั้นได้เดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ ในเขตจังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย และข้ามไปฝั่งลาวประมาณ ๓-๔ เดือน แต่ไม่ได้จำพรรษา แต่กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านเดิม อยู่ประมาณ ๓ ปี และญาติโยมชาวบ้านก็นิมนต์ท่านให้เข้ามาอยู่จำพรรษาที่วัดบ้าน เพื่อโปรดญาติโยมชาวบ้านบ้าง หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ก็ออกเดินธุดงค์ต่อ จนอายุถึง ๔๐ ปี จึงหยุดเดินธุดงค์ แต่ก็พยายามศึกษาปฏิบัติธรรมกัมมัฎฐานมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้นำญาติโยมประมาณ ๕ ครอบครัว จากบ้านหนองหอยใหญ่ ต.นาแก อ.นาแก มาสร้างบ้านและวัดใหม่ที่โนนมหาชัย ให้ชื่อบ้านว่า “บ้านมหาชัย” ในปัจจุบันนี้ และได้สร้างวัดใหม่ คือ “วัดธาตุมหาชัย” (เดิมชื่อ วัดโฆษการาม) จนเจริญรุ่งเรืองตราบถึงปัจจุบัน
๏ การศึกษาเบื้องต้นและพระปริยัติธรรม
พ.ศ. ๒๔๗๒ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนบ้านโพนดู่ บ้านโพนดู่ ต.พุ่มแก อ.นาแก จ.นครพนม
พ.ศ. ๒๔๗๙ อายุ ๒๒ ปี สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี ณ สำนักเรียนคณะจังหวัดนครพนม วัดพระพุทธบาทจอมทอง บ้านหนองหอยใหญ่ ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม
พ.ศ. ๒๔๘๘ อายุ ๓๐ ปี สอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท ณ สำนักเรียนคณะจังหวัดนครพนม วัดพระพุทธบาทจอมทอง บ้านหนองหอยใหญ่ ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม
พ.ศ. ๒๔๘๙ อายุ ๓๑ ปี สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก ณ สำนักเรียนคณะจังหวัดนครพนม วัดพระพุทธบาทจอมทอง บ้านหนองหอยใหญ่ ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม
๏ การศึกษาพิเศษ
- ได้ศึกษาอักษรธรรม อักษรขอม อักษรไทยน้อย อ่านเขียนได้คล่องแคล่ว และมีความชำนาญมาก
- ทรงจำพระปาฏิโมกข์ได้แม่นยำ เป็นพระผู้สวดพระปาฏิโมกข์ในวันทำสังฆกรรมอุโบสถ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ เรื่อยมา ความชำนาญการ
- มีความชำนาญการแสดงพระธรรมเทศนาโวหาร บรรยายธรรม เทศนาธรรม และเทศนาธรรมแบบปุจฉาวัสัชนา ๒ ธรรมาสน์ จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วเขตอีสานเหนือ ยากที่จะหาพระธรรมกถึกรูปอื่นเสมอเหมือนในสมัยนั้น
- มีความชำนาญการเทศนาธรรม ทำนองแหล่ภาษาอีสาน มีความสามารถในการประพันธ์กลอนแหล่ทำนองอีสานได้ เช่น กลอนอัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง, พระเวสสันดรทรงพบพระประยูรญาติ, พระเวสสันดรลาป่า, นางมัทรีเดินป่า เป็นต้น
- เป็นพระวิปัสสนาจารย์ใหญ่สาย พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล, พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ให้การอบรมวิปัสสนากรรมฐานประจำที่วัดป่ามหาชัย วัดส้างพระอินทร์ และวัดภูพานด่านสาวคอย
- มีความชำนาญการด้านนวัตกรรม การออกแบบก่อสร้างเสนาสนะ ทั้งงานไม้ งานปูน โดยเป็นผู้นำในการก่อสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ และพระธาตุมหาชัย (การก่อสร้างครั้งแรกๆ ท่านทำเองทั้งหมด เพราะสมัยนั้นไม่มีช่างผู้ชำนาญการ และเงินงบประมาณก็มีไม่เพียงพอ) งานการศึกษาพระปริยัติธรรม
พ.ศ. ๒๕๓๒ หลวงปู่ได้ตั้งสำนักเรียนวัดธาตุมหาชัย ทั้งแผนกธรรม-บาลีขึ้นจนสามารถมีลูกศิษย์สอบนักธรรม ได้เป็นจำนวนมากเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี และมีลูกศิษย์สามารถสอบเปรียญธรรมได้ทุกปี ปีละหลายๆ รูป ทำให้การศึกษาแผนกธรรมบาลีอำเภอปลาปากดีขึ้นตามลำดับ
พ.ศ. ๒๕๓๔ หลวงปู่ได้จัดตั้งทุนมูลนิธิการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม-บาลี ขึ้นที่วัดธาตุมหาชัย เพื่อส่งเสริมและมอบทุนการศึกษาให้แก่พระภิกษุ สามเณร ที่มีความรู้ความสามารถสอบนักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ได้ และสามารถสอบเปรียญธรรมได้ รวมทั้ง หลวงปู่ยังให้ทุนการศึกษาแก่ลูกศิษย์ที่ไปเรียนต่ออีกด้วย
๏ งานการศึกษาสงเคราะห์
พ.ศ. ๒๕๓๕ หลวงปู่ได้จัดตั้งกองทุนมูลนิธิการศึกษาให้แก่นักเรียนที่ยากจน ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ในเขตอำเภอปลาปาก และทุกอำเภอในเขตจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๑๐ เดือนมกราคมของทุกๆ ปี หลวงปู่คำพันธ์จะมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนทุกอำเภอๆ ละ ๙ ทุน และมอบทุนให้เป็นค่าอาหารกลางวันให้แก่โรงเรียนต่างๆ ด้วย
พ.ศ. ๒๕๓๕ หลวงปู่คำพันธ์ได้สร้างโรงเรียนมัธยมขึ้นที่บ้านนกเหาะ ต.โคกสูง อ.ปลาปาก จ.นครพนม ตั้งชื่อโรงเรียนมัธยมแห่งนี้ว่า ธรรมโฆษิตวิทยา มีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี และหลวงปู่คำพันธ์ยังได้เป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียนแห่งนี้มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๕๓๘ หลวงปู่คำพันธ์ได้ขออนุญาตสร้างโรงเรียนสุนทรธรรมากร และในปัจจุบันนี้ทางราชการได้เปลี่ยนใหม่ให้ชื่อว่า โรงเรียนมัธยมมหาชัยธรรมากร เพราะตั้งอยู่ที่บ้านโนนศรีชมภูทางแยกเข้ามาบ้านมหาชัย หลวงปู่ก็ให้การอุปถัมภ์ในทุกวันนี้และได้จัดบรรพชาสาเณรภาคฤดูร้อนเป็นประจำ
๏ งานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พ.ศ. ๒๕๓๒ หลวงปู่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าหน่วยพระธรรมฑูต ฝ่ายกำกับการพระธรรมฑูตอำเภอปลาปาก จ.นครพนม
พ.ศ. ๒๕๓๓ หลวงปู่ได้ร่วมมือกับคณะสงฆ์และทางราชการออกไปอบรมประชาชนตามหมู่บ้านต่างๆ ในเขตการปกครอง และร่วมกับหน่วยงานของราชการทุกหน่วยงานออกไปอบรมตามโครงการหมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองของอำเภอปลาปาก และยังได้ติดตามคณะพระธรรมฑูตจากส่วนกลางออกเยี่ยมเยียนประชาชนในเขตอำเภอปลาปาก โดยสม่ำเสมอมาตลอดทุกปี
ในฐานะพระนักเทศน์มักมีข้อธรรมกถาที่แยบยล รวมทั้งคำสั่งสอนเข้าใจง่าย ทุกบท ทุกวลี มีธรรมาภินิหาร ความหมายกินใจ ประจักษ์แจ้งแก่ผู้ฟังทั้งสิ้น งานสาธารณูปการ
พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นประธานสร้างอุโบสถ วัดพระพุทธบาทจอมทอง
พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นประธานสร้างหอระฆัง วัดพระพุทธบาทจอมทอง
พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นประธานนำชาวบ้านญาติโยมประมาณ ๕ ครอบครัว จากบ้านหนองหอยใหญ่ อ.นาแก ที่พากันติดตามหลวงปู่มา สร้างวัดใหม่ที่โนนมหาชัย ใช้ชื่อวัดว่า วัดโฆษการาม (วัดธาตุมหาชัย ในปัจจุบัน) บ้านมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม
พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นประธานสร้างพระคู่บ้านมหาชัย “พระพุทธศักดิ์สิทธิ์”
พ.ศ. ๒๕๑๔ หลวงปู่ได้เป็นประธานนำคณะศรัทธาญาติโยมชาวบ้านมหาชัย สร้างธาตุเจดีย์ขึ้นภายในวัด ซึ่งมีลักษณะทรงแปดเหลี่ยมด้วยศิลาแลงเสริมคอนกรีต สูง ๑๕ เมตร ตั้งชื่อว่า “พระธาตุมหาชัย” เพื่อเป็นหลักบ้านให้แก่ชาวมหาชัย ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันตธาตุ ๔ องค์ ได้แก่ พระอัญญาโกณฑัญญะ พระสารีบุตร พระอานนท์ และพระอนุรุทธะ
พ.ศ. ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่ “พระธาตุมหาชัย” และทรงเวียนเทียน ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นประธานสร้างอุโบสถวัดธาตุมหาชัย
พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นประธานสร้างกำแพงล้อมรอบวัดธาตุมหาชัย
พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นประธานสร้างกุฏิสงฆ์
พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นประธานสร้างวัดป่ามหาชัย (อรัญญคาม) และในปีเดียวกันนั้นเองหลวงปู่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำพระปรมาภิไธยย่อ (ภปร.) ประดิษฐานไว้ที่หน้าบันพระอุโบสถวัดโฆษการาม
วัดป่ามหาชัย (อรัญญคาม) สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติธรรม และเป็นศูนย์รวมการเผยแผ่พุทธธรรม โดยมีการอบรมปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ทุกๆ ปี ระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม และเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาจะมีการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมตลอดไตรมาส
พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นประธานสร้างกุฏิสงฆ์หลังใหม่อีกหลังหนึ่ง และหลวงปู่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อจากเดิมคือ วัดโฆษการาม เป็น วัดธาตุมหาชัย จนกระทั่งถึงปัจจุบัน และในปีเดียวกันนั้นหลวงปู่ได้เป็นประธานสร้างศาลาการเปรียญ-หอสมุดภายในวัด
พ.ศ. ๒๕๒๙ หลวงปู่ได้สร้างหอพระไตรปิฎก หอระฆัง
พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นประธานสร้างโรงเรียนมัธยม “โรงเรียนธรรมโฆษิตวิทยา”
พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นประธานสร้างโรงเรียนมัธยม “โรงเรียนธรรมากรวิทยา”
พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นประธานสร้างพระธาตุมหาชัยครอบองค์เดิม
พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นประธานสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ณ วัดส้างพระอินทร์ “พระพุทธการุณ”
พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นประธานสร้างโรงเรียนมัธยม “โรงเรียนมหาชัยวิทยาคม”
พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นประธานสร้างตึกผู้ป่วย โรงพยาบาลปลาปาก การสร้างวัตถุมงคล
นอกจากการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ด้านวัตถุมงคลก็โด่งดังยิ่งนัก แต่เริ่มเดิมทีหลวงปู่คำพันธ์ หาได้สนใจจัดสร้างไม่ ท่านนั่งปลุกเสกสร้างวัตถุมงคลไปแล้วไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ รุ่น เพื่อนำปัจจัยไปพัฒนากิจการด้านการศึกษา การศาสนา การสังคม และวัฒนธรรมพื้นถิ่น
วัตถุมงคลรุ่นแรกเป็นเหรียญรุ่นหยดน้ำ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ต่อมาในช่วงกลางเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ทางวัดธาตุมหาชัยกำลังพัฒนา หลวงปู่คำพันธ์จึงได้สร้างอิทธิมงคลขึ้น ชื่อชุด “มหาชัยมงคล” เป็นพระสมเด็จปรกโพธิ์หล่อ และล็อกเกตอุดผงตะกรุดทองคำ ซึ่งท่านได้ทำพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกมหามนตราศักดิ์สิทธิ์วัตถุมงคลนี้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อนำปัจจัยมาสมทบทุนมูลนิธิสังฆศาสน์ และเป็นทุนพัฒนาวัดธาตุมหาชัย
รวมทั้ง เหรียญรุ่นมหาปรารถนา สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ได้รับความนิยมสูงสุด และเป็นเหรียญรุ่นสุดท้าย ซึ่งกองทัพบกสร้างขึ้น และได้ขอบารมีให้ท่านปลุกเสก
ในจำนวนวัตถุมงคลที่สร้างและออกในนามหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย ทุกรุ่น จะพบว่า ยันต์ด้านหลังเหรียญที่พบมากที่สุด คือ “ยันต์สมปรารถนา” ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นยันต์เฉพาะตัวของหลวงปู่คำพันธ์ก็ว่าได้
ส่วนที่มาของยันต์นั้น หลวงปู่คำพันธ์ได้มาจากจารึกบนแผ่นศิลา ใต้ฐานองค์พระธาตุพนม ซึ่งค้นพบหลังจากพระธาตุพนมล้มลง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยหลวงปู่คำพันธ์กล่าวไว้ว่า “ภาษาจารึกเป็นภาษาสวรรค์” ทั้งนี้ หลวงปู่ได้นำมาปรับแต่ง และเขียนยันต์ขึ้นใหม่ เพราะท่านศึกษาอักษรธรรมอีสาน อักษรขอม อักษรไทยน้อย อ่านเขียนได้คล่องแคล่ว และมีความชำนาญมาก โดยใช้ชื่อว่า “ยันต์สมปรารถนา”
ส่วนพระคาถาที่หลวงปู่คำพันธ์ใช้ในพิธีอธิษฐานจิต ปลุกเสกมหามนตราศักดิ์สิทธิ์วัตถุมงคล คือ “คาถาพระพุทธเจ้า” โดยบริกรรมว่า “ทิตะ ศิรา ทันนันฑะ โลกะ ลิลากะ ละลาสติโป จะติโห คะหะตะเน”
“ยันต์สมปรารถนา” ของหลวงปู่คำพันธ์ มีความพิเศษกว่ายันต์ของพระเกจิอาจารย์รูปอื่นๆ คือ เขียนด้วยอักขระขอม และอักขระธรรมอีสาน ซึ่งปกติแล้วการเขียนยันต์ทั่วๆ ไปจะใช้อักขระเดียวเท่านั้น อักขระที่ใช้เขียนยันต์มี ๖ ภาษา ได้แก่ อักขระขอม อักระธรรมล้านนา อักขระธรรมอีสาน อักขระมอญ อักขระพม่า และอักขระสิงหล ซึ่งเมื่อเทียบเคียงแล้ว จะพบว่าอักขระทั้ง ๖ ภาษา (ถ้ารวมไทยด้วย ๗ ภาษา) บางตัวเขียนคล้ายกันมาก เช่น ก.ไก่ ย.ยักษ์ และ ว.แหวน เป็นต้น ที่เป็นเช่นนี้ เพราะการประดิษฐ์อักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชในสมัยสุโขทัยนั้น ประยุกต์หรือปรับปรุงมาจากอักษรมอญ และขอม ซึ่งมีการใช้อักษรมาก่อน
๏ ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์
พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นเจ้าอาวาสวัดโฆษการาม (วัดธาตุมหาชัย ในปัจจุบัน)
พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นเจ้าคณะตำบลมหาชัย
พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นรองเจ้าคณะอำเภอปลาปาก
พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นเจ้าสำนักศาสนศึกษาธรรม-บาลี
พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นเจ้าคณะอำเภอปลาปาก
พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอปลาปาก ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๑๘ พระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ “พระครูสุนทรธรรมโฆษิต”
พ.ศ. ๒๕๒๐ พระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม
พ.ศ. ๒๕๒๘ พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ “พระสุนทรธรรมากร” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า “ผู้เป็นต้นธรรมที่ดีพร้อม”
แม้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ แต่ใจท่านเป็นพระเต็มตัว ละแล้วซึ่งกิเลส ไม่ยึดติดในลาภสักการะคำสรรเสริญเยินยอใดๆ
๏ ลักษณะนิสัยทั่วไป
พระเดชพระคุณหลวงปู่เป็นพระมหาเถระ ที่มีอัธยาศัยใจคอกว้างขวาง เยือกเย็น มีความเมตตา กรุณาต่อศิษยานุศิษย์ ตลอดถึงญาติโยมทุกคนที่เข้าหาท่าน ใครก็ตามที่มีปัญหา หรือมีความทุกข์เข้าหาท่าน จะได้รับการต้อนรับจากท่านอย่างดียิ่ง เสมอกันหมด ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม ต่อครูบาอาจารย์และพระเถระที่อาวุโสกว่า หลวงปู่จะแสดงอาการอ่อนน้อมถ่อมตนเสมอ โดยไม่เคยจะแสดงอาการแข็งกระด้างใดๆ เลย ด้วยเหตุนี้หลวงปู่จึงเป็นที่เคารพนับถือของศิษยานุศิษย์และญาติโยมโดยทั่วไปเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้แล้ว หลวงปู่ก็ยังเป็นพระเถระที่มีความตั้งใจมั่นคงหนักแน่นอีกด้วย จะเห็นได้จากการที่ท่านตั้งใจจะทำสิ่งใดแล้ว จะต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จให้จงได้ คงเป็นเพราะความตั้งใจจริงและความตั้งใจมั่นคงนี้เอง ที่ทำให้หลวงปู่ทำสิ่งใดก็สำเร็จลุล่วงด้วยดี และรวดเร็วเกินความคาดหมายทุกประการ
ตัวอย่างเช่น พระธาตุมหาชัย, อุโบสถวัดธาตุมหาชัย, กำแพงล้อมรอบวัดธาตุมหาชัย และกุฏิสงฆ์หลังใหม่ ๒ หลัง ซึ่งสิ่งก่อสร้างแต่ละอย่างล้วนแต่ใช้ค่าก่อสร้างจำนวนมากทั้งสิ้น เมื่อคณะศรัทธาญาติโยมที่มีความเคารพนับถือในตัวหลวงปู่ได้ทราบ ต่างก็มีจิตศรัทธาช่วยกันสละกำลังทรัพย์มาช่วยในรูปของกฐินบ้าง ผ้าป่าบ้าง จนงานก่อสร้างดังกล่าวสำเร็จรวดเร็วเกินคาด
อีกประการหนึ่ง โดยอุปนิสัยแล้ว หลวงปู่ท่านถือการปฏิบัติกัมมัฏฐานเป็นประจำนับตั้งแต่อุปสมบทพรรษาแรก จนกระทั่งมรณภาพ
๏ การมรณภาพ
พระเดชพระคุณพระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ) ได้ละสังขารอย่างสงบในกุฏิจำพรรษา ด้วยโรคชราภาพ ประกอบกับมีโรคประจำตัวหลายอย่างแทรกซ้อน หลังจากอาพาธมานานหลายปี เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖ เวลาประมาณ ๐๑.๕๙ น. ณ วัดธาตุมหาชัย สิริรวมอายุได้ ๘๙ พรรษา ๕๙ สร้างความสลดโศกเศร้าให้แก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่ใกล้ชิด ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไปที่เลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่เป็นอย่างยิ่ง วันนี้...หลวงปู่คำพันธ์ พันธุ์ไม้มีแก่นในตัว ไม่โอ้อวด ไม่ยึดติด ท่านสิ้นใจแต่ไม่สิ้นธรรม อิทธิบารมีเหรียญพระสมเด็จหลวงปู่คำพันธ์
จากนิตยสารโลกลี้ลับ ปีที่ 20 ฉบับที่ 223 ประจำเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2546
ในบรรดาพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั่วทั้งพุทธจักร ย่อมรู้จักนามของ หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ นักบุญผู้มีเมตตาธรรมสูงแห่ง วัดธาตุมหาชัย บ้านมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่มีศีลาจารวัตรอันงดงาม พรหมวิหารธรรมของท่านประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
โดยเฉพาะอิทธิมงคลของหลวงปู่คำพันธ์ ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ปาฏิหาริย์สูงล้ำหลายด้าน จึงได้รับความนิยมจากวงการพระเครื่องอย่างรวดเร็ว ด้วยท่านเป็นผู้อุทิศชีวิตให้กับการปฏิบัติธรรมจนบรรลุผลทางใจกลายเป็นพระอริยสงฆ์ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาอันสูงสุด ทั้งยังเป็นแสงสว่างแห่งปัญญาวิสุทธิ์ของชาวพุทธ ท่านมิใช่เกจิอาจารย์ธรรมดา แต่หลวงปู่นี้คือยอดเกจิอาจารย์ผู้รุ่งเรืองด้วยพุทธิปัญญาโดยแท้
ด้วยคำสอนอันเรียบง่ายของท่าน แต่ลึกซึ้งด้วยแก่นแท้แห่งธรรมที่นักปราชญ์ทั้งทางโลกและทางธรรมยอมรับว่าท่านมี ดวงตาที่สาม สามารถรู้แจ้งในพระธรรมของพระพุทธเจ้า เป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานในธรรม สมกับที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น พหูสูตทางศาสนา ผู้หนึ่ง
ในช่วงกลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2535 ทางวัดธาตุมหาชัยกำลังพัฒนา หลวงปู่คำพันธ์จึงได้สร้างอิทธิมงคล ชุด “มหาชัยมงคล” ขึ้น เพื่อนำปัจจัยมาสมทบทุนมูลนิธิสังฆศาสน์ และเป็นทุนพัฒนาวัดธาตุมหาชัย ซึ่งผมเองก็ได้เดินทางไปขอเช่าวัตถุมงคลด้วย เป็นพระสมเด็จปรกโพธิ์หล่อ และล็อกเกตอุดผงตะกรุดทองคำ เพื่อไว้บูชาและความเป็นสิริมงคล โดยที่ได้นำเอาพระสมเด็จปรกโพธิ์หล่อจัดใส่กรอบแขวนห้อยคอตัวเอง ส่วนล็อกเกตอุดผงได้ให้ภรรยาแขวนคอไว้บูชา ซึ่งหลวงปู่คำพันธ์ได้ทำพิธีอธิษฐานจิต ปลุกเสกมหามนตราศักดิ์สิทธิ์วัตถุมงคลนี้เป็นกรณีพิเศษ
หลังจากที่ได้พระสมเด็จปรกโพธิ์ของหลวงปู่คำพันธ์ มาบูชา โดยคล้องคออยู่ตลอดเวลา จนมาช่วงหลายเดือนมกราคม ปี 2540 ผมได้เดินทางไปเข้าร่วมอบรมสัมมนาทางวิชาการฯ ของโรงเรียนในกลุ่มเขตการศึกษา 10 ที่จังหวัดอุบลราชธานี หลังเสร็จสิ้นภารกิจการอบรมฯ ที่จัดขึ้น 3 วันแล้ว วันสุดท้ายจึงได้ไปเที่ยวฟังเพลงในคาเฟ่แห่งหนึ่งในตัวจังหวัดเพียงคนเดียว จนกระทั่งเกิดเหตุทะเลาะกับกลุ่มวัยรุ่นที่เมาสุรา และเหมือนคราวเคราะห์ เนื่องจากเหตุการณ์ณ์บานปลาย
ขณะนั้นหนึ่งในกลุ่มวัยรุ่นได้ชักปืนขนาด .38 ออกมายิงใส่ตัวผมจำนวน 5 นัดซ้อน ในระยะเผาขน จนเป็นเหตุให้ผมล้มฟุบลงด้วยความเจ็บ ก่อนที่วัยรุ่นกลุ่มนั้นจะแตกกระเจิงหลบหนีไปคนละทิศละทาง และจากความแรงของวิถีกระสุนทำให้ผมมีอาการเจ็บปวดระคนจุกเสียดบริเวณหน้าอกและกลางหลังเหมือนกับจะหมดสติ และนอนนิ่งกองกับพื้นหมดสติไปในที่สุด ณ ที่ตรงนั้น ชั่วอึดใจได้มีผู้คนเห็นเหตุการณ์แห่มามุงดู พอผมตั้งสติได้จึงขยับตัวพยายามลุกขึ้นยืนท่ามกลางความงุนงงของผู้คนเหล่านั้น
เวลานั้นผมบอกอะไรไม่ถูก เหมือนคนตายแล้วเกิดใหม่และแทบไม่น่าเชื่อว่าผมจะยังมีชีวิตอยู่ ผมรอดตายมาได้ยังไง ? ด้วยมีรอยกระสุนที่ถูกยิงบริเวณหน้าอก ชายโครง และท้องน้อย 5 จุด ซึ่งมีลักษณะเป็นรอยไหม้และแผลเป็นลึกบุ๋มลงไปเล็กน้อยเท่านั้น คงเป็นอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระสมเด็จปรกโพธิ์หล่อ ของหลวงปู่คำพันธ์ แน่เลยที่ช่วยให้ผมรอดพ้นจากความตายมาได้อย่างน่าอัศจรรย์เพียงนี้
ด้วยความศักดิ์สิทธิ์นี่เอง ผมจึงได้ห้อย ‘พระสมเด็จปรกโพธิ์หล่อ’ ของหลวงปู่คำพันธ์ ติดตัวเป็นประจำด้วยความเคารพเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้า และมีความมั่นใจกับพระเครื่อง ของหลวงปู่คำพันธ์ที่ท่านได้สร้างขึ้นว่า เป็นพระแท้ที่เปี่ยมด้วยพลังเมตตา แคล้วคลาดสูงสุด ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระปรมาจารย์ หรือพระเกจิอาจารย์องค์สำคัญใดๆ ในแผ่นดินธรรมนี้เลย
|
หลวงปู่สีทัตถ์
|
 |
หลวงปู่ศรีทัต หรือ ยาคูศรีทัต ท่านเป็นที่เคารพของมหาชน 2 ฝั่งโขง ไม่ว่าท่านจะสร้างสิ่งใด ประชาชนทั้ง 2 ฝั่งจะร่วมแรงร่วมใจถวายแด่หลวงปู่ ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าดอกแก้ว อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ซึ่งท่านจะไปมาระหว่างวัดท่าดอกแก้ว และ ภูเขาควายในฝั่งลาว หลวงปู่ศรีทัตท่านมีศิษย์ที่ท่านถ่ายทอดสรรพวิชาการทั้งหลายจนสิ้นอยู่ 2 รูป ได้แก่ 1. หลวงปู่สนธ์ ซึ่งต่อมาเป็นเจ้าอาวาสต่อจากท่าน หลวงปู่สนธ์เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าดอกแก้ว จวบจนปี 2510 จึงมรณภาพ 2. หลวงปู่จันทร์ เขมิโย หรือ ท่านเจ้าคุณปู่ ที่เป็นที่สักการะอย่างสูง ท่านเจ้าคุณปู่ที่นั่งอยู่ในดวงใจของชาวนครพนม ท่านเป็นมหาเถระที่ชาวนครพนมและ จังหวัดใกล้เคียงให้ความเคารพอย่างสูง ท่านมีสมณศักดิ์ที่ พระเทพสิทธาจารย์ ท่านเจ้าคุณปู่เป็นเสาหลักแห่งพระศาสนา เป็นผู้วางรากฐานแห่ง พระธรรมยุติ ให้บังเกิดขึ้นที่นครพนม ท่านมรณภาพในปี 2515 สำหรับหลวงปู่สนธ์นั้น ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนักในเรื่องของความขลัง อาจจะเนื่องจากท่านอยู่ไกลถึง นครพนม แต่ในครั้งเมื่อมีการปลุกเสกพระประมาณปี 249กว่า หลวงปู่สนธ์ท่านมาร่วมปลุกเสก พระที่วัดเทพฯ ท่านขึ้นมาแบบพระบ้านนอกไม่มีใครรู้จักนัก ครั้นพิธีปลุกเสกผ่านพ้นไป วันเดิน ทางกลับนครพนม ได้มีปรากฏการณ์พิเศษคือ มีพระคณาจารย์ที่ร่วมปลุกเสกพระในครั้งนั้น ได้ เดินทางติดตามหลวงปู่สนธ์ไปวัดท่าดอกแก้วหลายสิบองค์ คุณอาคม ( บุตรชายของอาจารย์ประถม อาจสาคร ) เล่าว่า ( นิตยสาร ศักดิ์สิทธิ์) อาจารย์ประถม ได้นำพระเครื่องของหลวงปู่สนธ์ไปให้หลวงปู่เฮี้ยง (เจ้าคุณวรพรตปัญญาจารย์ วัดป่าอรัญญิกาวาส ชลบุรี ซึ่งเป็นอาจารย์องค์หนึ่งของอาจารย์ประถม) ดู ปรากฏว่า ท่านดูไม่ออก กว่าจะดูรู้เรื่องว่า หลวงปู่สนธ์ทำพระอย่างไร ปลุกเสกอย่างไร วิธีไหน ก็เสียเวลาหลายวัน ต้องกำหนดจิตเข้าใน องค์พระอยู่นานจึงรู้เรื่อง พอรู้แล้วก็เอ่ยปากยกย่องหลวงปู่สนธ์เป็นอย่างยิ่ง เสร็จแล้วก็ฝากพระ ของท่านไปให้หลวงปู่สนธ์ดูบ้าง เมื่ออาจารย์ประถมนำพระไปถวายให้หลวงปู่สนธ์ ท่านก็บอกทันที ว่าพระองค์นี้ดีอย่างนั้น ดีอย่างโน้น ปลุกเสกด้วยวิธีนั้น วิธีนี้ คาถาบทนั้น คาถาบทนี้ หลวงปู่เฮี้ยงถึงกับร้อง ทำนองว่า เขารู้เราหมด แต่กว่าเราจะรู้เขาได้นั้นผิดกันเยอะ จากคำบอกเล่าของหลวงปู่สนธ์ ได้เล่าให้อาจารย์ประถม ซึ่งขณะนั้นได้เดินทางไปปฏิบัติราชการ ตำแหน่งหัวหน้าสหกรณ์อำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม ปี 2493 ฟังว่า อาจารย์ของท่านคือ หลวงปู่ ศรีทัต เป็นพระเถระที่ทรงคุณยิ่งใหญ่ มีจริยวัตรที่งดงามนักหนา เคร่งครัดในธรรมวินัยยิ่งยวด มีตบะแก่กล้า
|
หลวงปู่สนธิ์ เขมิโย
|

หลวงปู่สนธิ์ เขมิโย วัดอรัญญานาโพธิ์ บ้านท่า(นาโพธิ์น้อย) หมู่ 8 ต าบลโพนสว่า อ าเภอศรีส คราม จั หวัดนครพนม ปัจจุบันอายุ 100 ปี 80 พรรษา นามเดิม นายสนธิ์ โคตะบิน เกิด วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน 2454 บิดา นายค า โคตะบิน มารดา นา อุ่น โคตะบิน ภูมิล าเนา บ้านนาโพธิ์ ต าบลโพนสว่า อ าเภอศรีส คราม จั หวัดนครพนม พี่น้องร่วมอุทร รวมทั้ หมด 10 คน ชาย 6 คน หญิ 4 คน ชีวิตฆารวาส ในช่ว เป็นฆราวาสได้ใช้ชีวิตเป็นปกติเหมือนชาวบ้านทั่วไป จนอายุ 17 ย่า 18 ปี นายสนธิ์ได้ออกไปหาปลาล าน้ าอูนใกล้หมู่บ้านพร้อมเพื่อนบ้าน พอถึ เที่ย วันหลั จาก รับประทานอาหารกลา วันเสร็จ ได้นอนพักผ่อนใต้ร่มไม้ริมล าน้ าอูน ในท่านอนตะแค มือ พนมสอ ข้า หนุนศีรษะ ผู้เฒ่าผู้แก่ประจ าหมู่บ้านที่ไปหาปลาด้วยกันจึ ทักขึ้นว่า นายสนธิ์ นอนตะแค มือพนมสอ ข้า หนุนศีรษะ จะไม่ได้ใช้ชีวิตครอ เรือนเหมือนคนทั่วไป แต่จะได้สืบ ทอดพระพุทธศาสนาตลอดชีวิต พออายุครบยี่สิบปี หลว ปู่สนธิ์ก็ได้นิมิต ว่าได้เดินทา ไปพบ ทา สอ แพ่ ซึ่ เส้นทา ซ้ายมือ มีผู้คนก าลั ฟ้อนร าอยู่อย่า สนุกสนานและเชิญชวนให้หลว ปู่ เข้าไปร่วมขบวนด้วย แต่หลว ปู่ปฏิเสธ แล้วท่านเลือกเดินไปเส้นทา ขวามือ ไปพบสถานที่ร่ม รื่นมีศาลา หลว ปู่ขึ้นไปพักบนศาลา หลั จากนั้นหลว ปู่ก็ตื่นจากนิมิต ต่อมาไม่นานมีญาติผู้ใหญ่ฝ่ายพ่อถึ แก่กรรม ไม่มีผู้บวชหน้าไฟให้ พ่อขอ หลว ปู่สนธิ์จึ ขอให้หลว ปู่สนธิ์บวช โดยมีหลว พ่อแก้วเป็นพระอุปัชฌาย์ หลว พ่อเกศเป็นพระกรรมวาจา ขวา หลว พ่อเกิดเป็นพระกรรมวาจาซ้าย บรรพชาที่วัดศรีชมชื่น บ้านนาโพธิ์ หลั จากบวชหน้าไฟแล้วหลว ปู่ก็ไม่ได้ลาสึกเลย ในช่ว บวชปีแรกมีพระเณรจ าพรรษา ด้วยกันเก้ารูป หลว ปู่ได้ฉายแววความมีอัจฉริยะโดยการเป็นผู้มีความมานะ ตื่นแต่เช้า ขยัน ท่อ ต ารา จ าบทสวดต่า ๆ ได้แม่นย า จนหลว พ่อเจ้าอาวาสชมว่า “ พระเณรกลุ่มนี้ สู้สนธิ์ ไม่ได้หรอก ” ก็เป็นจริ ดั ที่ท่านกล่าว เพราะในปัจจุบันนี้ใน เก้ารูปนั้นยั ค เหลือแต่หลว ปู่ สนธิ์ ที่ยั ค ครอ สมณเพศอยู่อย่า มั่นค ตราบจนปัจจุบันนี้ หลวงปู่สีทัต ภูริทัตโต หลังจากจ าพรรษาแรก หลว ปู่สนธิ์ได้ธุด ค์โดยเท้าเปล่า ไปจ าพรรษาตามวัดต่า ๆ อีก หลายวัดในเขตอ าเภอกุสุมาลย์ จั หวัดสกลนคร อ าเภอโพนสวรรค์ และอ าเภอท่าอุเทน เป็น เวลาแปดพรรษา ช่ว จ าพรรษาที่อ. ท่าอุเทน ได้ปวารนาตนเป็นศิษย์ขอ หลว ปู่สีทัต ภูริทัตโต วัดพระธาตุท่าอุเทน และได้ร่วมสร้า พระธาตุท่าอุเทน พรรษาที่เก้า ออกธุด ค์ด้วยเท้าเปล่าแสว บุญขึ้นไปทา เหนือ ถึ วัดพระบาทบัวบก อ าเภอบ้านผือ จั หวัดอุดรธานี อ าเภอท่าบ่อ จั หวัดหนอ คาย และข้ามล าน้ าโข ไป หมู่บ้าน กะลิ กะลั แขว เวีย จันทน์ ประเทศลาว จ าพรรษาอยู่สอ พรรษา แล้วธุด ค์เลียบ ตามล าน้ าโข ล ไปทา ใต้ ถึ ภูเขาควายและอยู่จ าพรรษาที่ถ้ าภูเขาควายได้สี่พรรษา หลว ปู่ เล่าว่าในคืนหนึ่ เวลาประมาณตี สอ ขณะที่นั่ ปฏิบัติธรรมอยู่นั้น ได้มีฝู สัตว์ป่า มี เสือโคร่ หมี ได้เข้ามาใกล้บริเวณที่ก าลั นั่ อยู่และเสือได้ แสด อาการใช้เท้าครูดกับลานหินคล้ายกับ ตะปบเหยื่อ หลว ปู่ได้ภาวนาและแผ่เมตตาให้ฝู สัตว์เหล่านั้น ประมาณสิบนาทีต่อมาได้มี โขล ช้า ป่าส่ เสีย ดั ก้อ ป่าท าให้ฝู สัตว์ อาทิ เสือ และหมี ค่อย ๆ ถอยห่า ออกไปโดยไม่มี เหตุร้ายใด ๆเกิดขึ้นเลย หลั จากจ าพรรษาที่ประเทศลาวรวมหกพรรษา หลว ปู่ออกเดินธุด ค์ขึ้นไปทา เหนือ ขอ ลาวข้ามล าน้ าโข มาที่อ าเภอนาน้อย จั หวัดน่าน แวะจ าพรรษาตามที่ต่า ๆ ในเขต ภาคเหนือ เช่น สามเหลี่ยมทอ ค า จั หวัดเชีย ราย จั หวัดเชีย ใหม่ ล าปา ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ และอ าเภอน้ าปาด จั หวัดอุตรดิตถ์ เดินธุด ค์ล มาทา ภาคกลา ที่จั หวัดชัยนาท นครปฐม สิ ห์บุรี สระบุรี เดินธุด ค์ล ทา ภาคใต้ จั หวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ส ขลา นครศรีธรรมราช ภูเก็ต แล้วธุด ค์กลับขึ้นมาทา ภาคอีสาน ผ่าน ทา จั หวัดนครราชสีมา กลับมายังบ้านเกิดเพื่อโปรดโยมพ่อ โยมแม่และญาติพี่น้อง หลั จากนั้นได้เดินทา ไป สร้า วัดและจ าพรรษา ที่บ้านเป จาน อ าเภอโพนพิสัย จั หวัดหนอ คาย และได้ทราบข่าวว่า โยมพ่อป่วย จึ เดินทา กลับมายั บ้านนาโพธิ์ เพื่อดูแลอาการป่วยขอ โยมพ่อ และได้มาสร้า วัดอรัญญานาโพธิ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2509 อยู่จ าพรรษาอยู่จนถึ ปัจจุบัน หลวงปู่สนธิ์เป็นพระที่มีความสมถะ ใช้ชีวิตแบบเรียบ ่าย เวลา เดินธุด ค์จะไม่มี ทรัพย์สินมีค่าติดตัว ไม่สวมใส่รอ เท้า และการบิณฑบาตก็รับแต่พอฉันในแต่ละมื้อเท่านั้น ไม่เก็บสะสมสิ่ ขอ มีค่า ด้านปาฏิหาริย์ จากค าบอกเล่าขอ ชาวบ้านญาติโยมที่พบเห็นขณะที่หลว ปู่สนธิ์ก าลั ออกเดินบิณฑบาต ฝนตกปรากฏว่าเม็ดฝนไม่ถูกตัวขอ หลว ปู่เลย ทั้ ที่หลว ปู่ก็เดิน บิณฑบาตไปตามปกติ แต่ฝนก็ตกตามหลั ไป แต่ไม่ทันตัวหลว ปู่ชาวบ้านก็เลยเรียกว่า “ ฝนไล่ไม่ทันหลว ปู่เดิน ” ผลบุญกุศลที่หลวงปู่ได้มอบให้กับสังคมบ้านเมืองในฐานะเป็นพระผู้ให้และไม่เคยสะสมดั นี้ ด้านการศึกษา 1. โร เรียนสนธิราษฎร์ประชาสนธิ์ 1. โร เรียนประชาสนธิ์นุสรณ์ บ.หนอ นกทา อ.ศรีส คราม จ.นครพนม 2. โร เรียนสนธิราษฎร์วิทยา อ.ศรีส คราม จ.นครพนม 3. โร เรียนสนธิราษฎร์นาเพีย เก่าสามัคคี ต.นาเพีย อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร 4. กอ ทุนเพื่อการศึกษาหลว ปู่สนธิ์ โร เรียนสนธิราษฎร์วิทยา อ.ศรีส คราม 5. มูลนิธิหลว ปู่สนธิ์ เขมิโย อ.ศรีส คราม จ.นครพนม 6. อุปถัมภ์การตั้ กอ ทุนคืนสู่เหย้าโร เรียนหนอ ซนพิทยาคม สมาคมศิษย์เก่าโร เรียน หนอ ซนพิทยาคม อ.นาทม จ.นครพนม ด้านการสาธารณสุข สร้า ตึกส ฆ์อาพาธโร พยาบาลศรีส คราม อ.ศรีส คราม จ.นครพนม ด้านการศาสนา สร้า พระอุโบสถวัดศรีสวาสดิ์ บ.โพนสว่า ต.โพนสว่า อ.ศรีส คราม จ.นครพนม ด้านศิลปวัฒนธรรม สนับสนุนการตั้ ว ดนตรีพื้นเมือ (ว โป ลา โร เรียนสนธิราษฎร์พาทย์พิณแคน) วัตถุมงคลของหลวงปู่ วัตถุม คลขอ หลว ปู่ เหรียญแต่ละรุ่นมักจะมีจ านวนจ ากัด จะไม่มีการสร้า เพิ่มอีก แต่จะมีการสร้า รุ่น (พิเศษ) เนื่อ ใน านการสร้า โร เรียน ศาลาการเปรียญ พระอุโบสถ กุฏิ หอระฆั และที่ระลึก านต่า ๆ เป็นต้น บา รุ่นออกมาจ านวนจ ากัดและแจกกรรมการเท่านั้น จึ เป็นวัตถุม คลที่หายาก ผู้ที่ ได้รับไปมักไม่ค่อยปล่อยให้เช่ากัน จะเก็บไว้เพื่อความเป็นสิริม คลแก่ชีวิต ให้อยู่เย็นเป็นสุข วัตถุม คลขอ หลว ปู่ เหรียญหลว ปู่แจกให้ศิษย์ หรือรุ่นที่แจกในวโรกาสต่า ๆ มักจะมีการ สร้า เพิ่มเติมถ้าบล็อกแรกหมดแล้ว เหรียญบล็อกแรกเป็น "เขมปัญโญ" ฉายาขอ หลว ปู่ที่จริ เป็น "เขมิโย" คนสร้า อาจ ท าบล็อกผิดพลาด โดยเฉพาะเหรียญรุ่นบล็อกแรก เหรียญรุ่น ๒ เท่านั้นที่มีการต๊อกโค๊ด หรือเป็นรุ่นสอ หน้า คือ ด้านหน้าเป็นหลว ปู่ สนธิ์ เขมปัญโญ ด้านหลั เป็นหลว ปู่สีทัตถ์ สุวรรณมาโจ แห่ พระพุทธบาท โพนสัน ซึ่ เป็น พระอาจารย์ขอ ท่าน จะมีการตอกโค๊ดไว้ ส่วนหน้าเดียวขอ หลว ปู่สนธิ์ เขมปัญโญ และตั้ แต่ เหรียญรุ่น ๓ - ๕๖ จะไม่มีการตอกโค๊ดทั้ สิ้น ส่วนบล็อกสอ บล็อกสาม มีการตอกโค๊ดก ากับไว้ทั้ หมด รวมไปถึ หน้าเดียว จ านวน การสร้า ขึ้นมาแต่ละครั้ ไม่ทราบแน่ชัด เพราะว่าทุกวันนี้ บา รุ่นก็ยั เห็นหลว ปู่ท่านแจกอยู่ เลย แต่ที่แน่ๆ ก็คือว่าญาติโยมที่เคารพ ศรัทธาในตัวหลว ปู่ มาขออนุญาตสร้า เพิ่มเติม เพื่อให้ หลว ปู่เอาไว้แจกโดยเฉพาะ ไม่มีการให้เช่า บูชา หรือการค้าใด ๆ ส าหรับเหรียญรุ่น (พิเศษ) นั้นมีการตอกโค๊ดบ้า ไม่ตอกบา แต่ส่วนมากรุ่นพิเศษ มักจะไม่มีการตอกโค๊ดก ากับไว้ซึ่ เหรียญรุ่นบล็อกต่า ๆ สร้า ถวายโดยสานุศิษย์หลาย ๆ ที่ด้วยกัน การสร้า เหรียญบา รุ่น เพื่อแจกเป็นขวัญก าลั ใจแก่เหล่าทหารในการท าส ครามใน เขตพื้นที่สีแด ในสมัยนั้น แล้วจะไม่มีการตอกโค๊ด (เป็นรุ่นที่มีราคาสู กว่ารุ่นที่มีการตอกโค๊ด) 1. เหรียญรุ่นที่ ๑ สร้า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ สร้า ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ไม่มีการตอกโค๊ด (เฉพาะบล็อกแรก) 2. เหรียญรุ่น ๑ บล็อกสอ สร้า โดยสานุศิษย์ทา อ.ศรีส คราม อ.ท่าอุเทน จ.หนอ คาย จะมี การตอกโค๊ด (สค.) แล้วเปลี่ยนฉายาให้ถูกต้อ เป็น "เขมิโย" 3. เหรียญรุ่น ๑ รุ่น (พิเศษ) ที่สร้า ขึ้นตามวโรกาส านส าคัญต่า ๆ มักจะไม่มีการเขียนชื่อรุ่น ระบุไว้ รวมไปถึ รุ่นที่แจกกรรมการอีกด้วย ลักษณะเหรียญรุ่นบล็อกสอ ที่มีการสร้า เพิ่ม จะมีการตอกโค๊ดก ากับไว้ การสร้า วัตถุม คลขอ หลว ปู่ เป็นการเรื่อ เล่าขอ หลว ปู่ที่เป็นศาสนประโยชน์ให้ ลูกหลานรุ่นหลั ๆ ได้ศึกษาคุณ ามความดีขอ หลว ปู่ ไม่ได้มีเจตนาแอบแฝ หรือมาปั่นราคา เหรียญรุ่นขอ หลว ปู่แต่อย่า ใด หรือท าเพื่อการค้า เรื่อ การปั่นราคาเหรียญ ลูกศิษย์ลูกหาไป ปั่นหรือขึ้นราคากันเอ เพราะหลว ปู่สร้า เหรียญมาแต่ละรุ่น (ท่านแจกฟรีหมด) หรือถ้า ปล่อยให้เช่า ก็จะมีราคาถูก ไม่แพ เหมือนในปัจจุบันที่ลูกศิษย์ลูกหาไปปั่นขึ้นราคากันเอ การสร้า วัตถุม คลให้หลว ปู่แจกเพราะมีความศรัทธาหลว ปู่ ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติ ดีปฏิบัติชอบรูปหนึ่ ท่านสร้า ศาสนสถาน สนับสนุนการศึกษาบุตรหลาน มีคุณูปการเป็น อย่า มาก ด้านอภิญญาฤทธิ์แล้ว วัตถุม คลขอ ท่านมีประสบการณ์มาก แต่ต้อ มีจิตใจบริสุทธิ์ สะอาด คิดดี ท าดี พูดดี สะอาดครับ จึ จะท าให้มีความสุขตามค านิยามที่ท่านให้ลูกศิษย์ลูก หาไว้ “ สัจจะ สัจจะ สุข ” วัตถุม คลหลว ปู่ เท่าที่ผมรู้มา ไม่มีเก๊ ทุกรุ่นที่มีการสร้า บล็อก เพิ่ม หลว ปู่ก็เมตตาอฐิ ษฐานจิตให้ทุกครั้ ตอนนี้หลว ปู่ท่านก็อายุ 100 ปีแล้ว หากใครไปอาจจะไม่ค่อยได้พบหลว ปู่ อยาก พบหลว ปู่ ต้อ ตื่นเช้าๆ แล้วไปที่วัดอรัญญา แล้วถ้าพบแล้วก็อย่าอยู่นาน เป็นการถนอมธาตุ ขันธ์ขอ หลว ปู่ไปในตัวด้วย ส่วนใหญ่ท่านจะประจ าที่วัดหนอ นกทา หลว ปู่เป็นพระผู้ให้ การสร้า วัตถุม คลขอ คณะศิษย์ ขอให้ศิษย์มีจิตบริสุทธิ์ เพื่อ น าปัจจัยไปพัฒนากิจการที่เป็นกุศล หลว ปู่ก็จะอนุญาตให้สร้า ไว้ที่ระลึกขอ ศิษย์ เช่น 1. รูปหล่อลอยองค์ของหลวงปู่ รุ่นแรก อนุญาตให้นายสินสมุทร เสนาอาจ ผู้อ านวยการ ส านัก านเขตพื้นที่การศึกษานครพนม เขต 2 นายวัฒนะ วดีศิริศักดิ์ ผู้อ านวยการโร เรียน นาเดื่อพิทยาคม อ าเภอศรีส คราม นายอร่าม คูสกุลรัตน์ ผู้อ านวยการโร เรียนสนธิราษฎร์ วิทยา อ าเภอศรีส คราม และนายบรรจ ศรีประเสริฐ ผู้อ านวยการโร เรียนหนอ ซนพิทยา คม อ าเภอนาทม จั หวัดนครพนม สร้า วัตถุม คล รุ่นบารมี 96 เนื่อ ในโอกาสที่หลว ปู่มี อายุ 96 ปี ได้น าไปสมนาคุณแก่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคสนับสนุนการจัดการศึกษาขอ โร เรียน ตามรายละเอียดดั นี้ ที่ รายการ จ านวน หมายเหตุ 1 พระรูปเหมือนหลว ปู่ รุ่น 1 เนื้อทอ ค า 18 อ ค์ โค๊ดเขมิโย 2 พระรูปเหมือนหลว ปู่ รุ่น 1 เนื้อทอ ค าบรรจุเกศา 7 อ ค์ 3 พระรูปเหมือนหลว ปู่ รุ่น 1 เนื้อเ ิน 96 อ ค์ โค๊ดเขมิโย 4 พระรูปเหมือนหลว ปู่ รุ่น 1 เนื้อนวโลหะ 300 อ ค์ โค๊ดเขมิโย 5 พระรูปเหมือนหลว ปู่ รุ่น 1 เนื้อทอ ฝาบาตร 3,000 อ ค์ โค๊ดเขมิโย 6 เหรียญรูปไข่ เนื้อเ ิน 96 อ ค์ โค๊ดเขมิโย 7 เหรียญรูปไข่ เนื้อทอ แด 300 อ ค์ โค๊ดเขมิ โย 8 เหรียญรูปไข่ เนื้อทอ ฝาบาตร 3,000 อ ค์ 9 พระกริ่ ทอ ปรเรศ เนื้อทอ ผสม 30 อ ค์ โค๊ดเขมิโย ประสานงานการแกะแบบรูปลอยอ ค์ด้วยหินสบู่ โดย คุณลักษณ์ ราชเทวี และจ่าทวี ว ศ์สิทธิ์ หล่อโดย โร หล่อช่า แขก รูปหล่อลอยองค์ รุ่น 1 เนื้อทองค า (รุ่นหลังค่อม- หนักประมาณหนึ่งบาท) 2. รูปหล่อลอยองค์ รุ่น 2 เพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ศิษยานุศิษย์ที่ร่วมใจกันหาทุนสร้า กุฏิหลั ใหม่ให้หลว ปู่ โดยมี นายวัฒนะ วดีศิริศักดิ์ ผู้อ านวยการโร เรียนนาเดื่อพิทยาคม อ. ศรีส คราม นายอร่าม คูสกุลรัตน์ ผู้อ านวยการโร เรียนสนธิราษฎร์วิทยา อ. ศรีส คราม เป็นผู้น าสร้า ดั นี้ ที่ รายการ จ านวน หมายเหตุ 1 พระรูปเหมือนหลว ปู่ รุ่น2 เนื้อทอ ค าบรรจุเกศา จีวรและแป้ เสก 4 อ ค์ ใช้แม่พิมพ์รุ่น แรก 2 พระรูปเหมือนหลว ปู่ รุ่น 2 เนื้อเ ินเก่า ไม่ทราบจ านวน 3 พระรูปเหมือนหลว ปู่ รุ่น 2 เนื้อนวโลหะ ไม่ทราบจ านวน 4 พระรูปเหมือนหลว ปู่ รุ่น 2 เนื้อทอ เหลือ ไม่ทราบจ านวน รูปหล่อลอยองค์ (บรรจุกริ่ง) รุ่น 2 เนื้อทองแดง - ทองค า (รุ่นหลังตรง-หนักประมาณสองบาท) ขอเชิญร่วมท าบุญสร้างพระอุโบสถ บูชาวัตถุมงคลหลวงปู่สนธิ์ เขมิโย รุ่น “ 100 ปี 80 พรรษา ” วันพุธที่ 20 เมษายน 2554 หลว ปู่ท่านจะอายุ 100 ปี 80 พรรษา คณะศิษย์ ร่วมใจสร้า วัตถุม คลเพื่อน ารายได้ไปสร้า พระอุโบสถ อันเป็นสาธารณะประโยชน์ขอ ชุมชน วัดอรัญญา บ้านนาน้อย ต าบลโพนสว่า อ าเภอศรีส คราม จั หวัดนครพนม เพื่อให้ศิษย์ที่ มีจิตบริสุทธิ์ เพื่อน าปัจจัยไปพัฒนากิจการที่เป็นกุศล หลว ปู่จึ อนุญาตให้สร้า รูปหล่อรูป เหมือน รุ่น “ 100 ปี 80 พรรษา ” จ านวน 4 รายการ คือ ที่ รายการ จ านวน บูชาองค์ละ (บาท) 1 รูปเหมือนหลวงปู่สนธิ์ เขมิโย เนื้อทองเหลืองขัดเงา หน้าตัก 5 นิ้ว (มีโค๊ดและหมายเลขก ากับทุกองค์) ตามที่สั่ จอ 2,500 2 รูปเหมือนหลวงปู่สนธิ์ เขมิโย กะไหล่ทอง ขนาดห้อยคอ (มีโค๊ดและหมายเลขก ากับทุกองค์) ตามที่สั่ จอ 1,000 3 รูปเหมือนหลวงปู่สนธิ์ เขมิโย เนื้อเงิน ขนาดห้อยคอ (มีโค๊ดและหมายเลขก ากับทุกองค์) ตามที่สั่ จอ ติดต่อ* 4 รูปเหมือนหลวงปู่สนธิ์ เขมิโย เนื้อทองค า ขนาดห้อยคอ (มีโค๊ดและหมายเลขก ากับทุกองค์) ตามที่สั่ จอ ติดต่อ* ก าหนดการ 1. สั่งจองตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึ วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน 2554 2. รับวัตถุมงคลตั้ แต่วันที่ 20 เมษายน 2554 เป็นต้นไปจากบุคคลและสถานที่สั่ จอ 3. การสั่งจองจะสมบูรณ์เมื่อท่านได้ช าระค่าบูชาครบถ้วนแล้วเท่านั้น 4. สั่งจองทางไปรษณีย์ โดยสั่งจ่ายธนาณัติในนาม(ค่าจัดส่ง 100 บาท) 4.1 นายวัฒนะ วดีศิริศักดิ์ 278 หมู่ 4 ต.ศรีส คราม อ.ศรีส คราม จ.นครพนม 48150 4.2 นายอร่าม คูสกุลรัตน์ โร เรียนสนธิราษฎร์วิทยา ต.บ้านเอื้อ อ.ศรีส คราม จ.นครพนม 48150 4.3 นายบรรจง ศรีประเสริฐ โร เรียนหนอ ซนพิทยาคม อ าเภอนาทม จ.นครพนม 48140 |
หลวงปูคำพันธ์ จันทูปโม(พระจันโทปมาจารย์)
|
 |
พระจันโทปมาจารย์" หรือ "หลวงปู่คำพันธ์ จันทูปโม" เจ้าอาวาสวัดวัดศรีวิชัย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นคร พนม พระสุปฏิปันโนชั้นผู้ใหญ่ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่ชาวเมืองนครพนมให้ความเลื่อมใสศรัทธา
หลวงปู่คำพันธ์ เป็นศิษย์สืบสายธรรมหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม พระอริยสงฆ์ชื่อดังแห่งภาคอีสาน
ปัจจุบัน หลวงปู่คำพันธ์ สิริอายุ 82 ปี พรรษา 62
อัตโนประวัติ เกิดในสกุล ปทุมมากร เมื่อวันอาคารที่ 13 พฤศจิกายน 2471 ตรงกับวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 16 ที่บ้านศรีเวินชัย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายอ้วนและนางทุมมา ปทุมมากร เป็นบุตรชายคนที่ 6 ในจำนวนพี่น้อง 7 คน
ในวัยเยาว์ เมื่ออายุได้ 9 ขวบ โยมบิดาเสียชีวิต ภาระจึงตกหนักที่มารดาต้องเลี้ยงดู สมัยนั้นในหมู่บ้านยังไม่มีโรงเรียน ทำให้พี่น้องในครอบครัวไม่ได้รับการศึกษาแม้แต่คนเดียว
พออายุได้ 10 ขวบ โยมมารดาได้นำบุตรชายไปฝากตัวกับพระอาจารย์พุฒ ที่วัดแพงศรี บ้านศรีเวินชัย ต.สามผง เพื่อฝึกท่องคำบรรพชา ก่อนล่องเรือไปตามแม่น้ำสงคราม เพื่อเข้าพิธีบรรพชาที่วัดใน บ้านท่าบ่อ ต.ท่าบ่อสงคราม ก่อนกลับมาอยู่จำพรรษาที่วัดแพงศรี บ้านศรีเวินชัย
สามเณรคำพันธ์ได้เรียนหนังสือธรรมโดยการจาร (เขียน) ลงบนแผ่นใบลาน ก่อนติดตามธุดงค์ไปกับพระอาจารย์พุฒ ข้ามแม่น้ำโขงไปฝั่งลาว ผจญการเดินป่าจนเป็นไข้มาลาเรีย ก่อนพระอาจารย์พุฒนำตัวไปฝากกับพระมหาอ่ำ ที่วัดอูบมุง ที่เมืองเวียงจันทน์ ร่ำเรียนหนังสือภาษาลาวและศึกษาพระปริยัติธรรมชั้นตรี
ภายหลังสงครามอินโดจีนสงบลงในปี พ.ศ.2482 พระมหาอ่ำ จึงนำสามเณรคำพัน ขณะมีอายุ 13 ปี กลับมาอยู่วัดตามเดิม
ครั้นอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2491 ที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม โดยมีพระสารภาณมุนี หรือ หลวงปู่จันทร์ เขมิโย เป็นพระอุปัชฌาย์
ภายหลังอุปสมบทได้อยู่บำเพ็ญเพียรภาวนาที่สำนักสงฆ์ถ้ำชัยมงคลกับพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ซึ่งเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล บนเทือกเขาภูลังกา อ.บึงโขงหลง จ.หนองคาย เป็นเวลานานหลายปี จนเมื่อพระอาจารย์วัง มรณภาพลง จึงได้ย้ายกลับมาจำพรรษาที่วัดศรีวิชัย ต.สามผง
พ.ศ.2492 สอบได้นักธรรมชั้นเอก ที่สำนักเรียนวัดโพธิ์ชัย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม และสอบได้ครูพิเศษมูลตามลำดับ พ.ศ.2493 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมชั้นตรี-โท-เอก
พ.ศ.2494 เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง พ.ศ. 2494 เป็นประธานสอบธรรมสนามหลวงที่สำนักเรียนวัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง ต.สามผง อ.ศรีสงคราม
ด้านงานเผยแผ่ พ.ศ.2508-2510 เป็นพระธรรมทูต พ.ศ.2506 เป็นอาจารย์สอนภาวนาสมถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐานในสำนักและตามวัดต่างๆ ที่อยู่ในเขตการปกครอง
ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2506 เป็นเจ้าคณะอำเภอศรีสงคราม บ้านแพง นาทม นาหว้า (ธ) พ.ศ.2509 เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ.2514 เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีวิชัย บ้านศรีเวินชัย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม
ต่อมา ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอศรีสงคราม ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอศรีสงคราม บ้านแพง นาทม นาหว้า(ธ)
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2511 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่ พระครูอดุลธรรมภาณ
พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม
พ.ศ.2545 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระจันโทปมาจารย์
หลวงปู่คำพันธ์ ได้ก่อสร้างศาสนวัตถุเป็นจำนวนมาก อาทิ อุโบสถสูง 2 ชั้น สิมอีสานวัดพระเนาว์ กุฏิ ศาลาการเปรียญ โรงเรียนพระปริยัติธรรม และเสนาสนะต่างๆ
พ.ศ.2530 เป็นผู้ริเริ่มโครงการก่อสร้างทำนบห้วยอาสาประชาน้อมเกล้า โดยชักชวนชาวบ้านศรีเวินชัยและหมู่บ้านใกล้เคียง ร่วมบริจาคเงินก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ระยะทางยาว 8 กิโลเมตร ไว้กักเก็บน้ำปลูกข้าวนาปรัง 3,000 ไร่ ในพื้นที่บ้านศรีวิชัย และบ้านดอนเตย อ.นาทม
ท่านเป็นพระนักพัฒนาที่เสียสละและช่วยสงเคราะห์ด้านสาธารณประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านมากมาย แม้จะมีวัยล่วงเลยกว่า 80 ปีแล้ว
แต่ก็ยังทุ่มเทแรงกายแรงใจ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวตลอดไป
|